เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 3.อัสสาชานิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 8 ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. ฉันโภชนะที่เขาถวาย จะเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม โดยเคารพ
ไม่รังเกียจ
3. รังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจการ
ประกอบบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ
4. เป็นผู้สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุอื่น ๆ
5. เป็นผู้เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่พระศาสดา หรือ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน ตามความเป็นจริง
6. พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน พยายาม
ช่วยกันกำจัดความโอ้อวด ความพยศคดโกงเหล่านั้นของเธอได้
7. เป็นผู้ศึกษา คือ ใฝ่ใจอยู่ว่า ‘ภิกษุอื่น ๆ จะศึกษาหรือไม่ก็ตาม
เฉพาะข้อนี้เราจักศึกษาได้’ เมื่อดำเนินไปก็ดำเนินไปตามทางตรงเท่านั้น
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ
8. เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก
ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด เรายังไม่บรรลุผล
ที่จะพึงบรรลุ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ
ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 8 ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อัสสาชานิยสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :236 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 4.อัสสขฬุงกสูตร
4. อัสสขฬุงกสูตร
ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก
[14] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้ากระจอก 8 จำพวก และโทษของม้า
กระจอก 8 ประการ คนกระจอก 8 จำพวก และโทษของคนกระจอก 8 ประการ
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ม้ากระจอก 8 จำพวก และโทษของม้ากระจอก 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตัก1เตือนอยู่ ย่อมถอยหลัง ดันรถให้กลับหลัง ม้ากระจอก
บางตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ 1
2. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมหกหลัง ดัดทูบให้หัก ม้ากระจอกบางตัวใน
โลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ 2
3. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมยกขาขึ้นตะกุยงอนรถ ถีบงอนรถ ม้ากระจอก
บางตัวในโลกนี้เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ 3
4. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมเดินผิดทาง2 ทำให้รถไปผิดทาง ม้ากระจอก
บางตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ 4
5. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมเชิดกายส่วนหน้า เผ่นขึ้นไป ม้ากระจอกบาง
ตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ 5

เชิงอรรถ :
1 ประตัก หมายถึงไม้ที่ฝังเหล็กแหลมข้างปลาย ใช้แทงสัตว์พาหนะ เช่น วัว (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525)
2 ทำให้รถไปผิดทาง หมายถึงลากรถขึ้นเนิน หรือเข้าพงหนาม (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/14/239)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :237 }