เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 3.อัสสาชานิยสูตร
3. อัสสาชานิยสูตร
ว่าด้วยม้าอาชาไนย
[13] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย1พันธุ์ดีของพระราชา ประกอบด้วยองค์
8 ประการ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะ
โดยแท้
องค์ 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้
1. เป็นสัตว์มีกำเนิดดีทั้งฝ่ายแม่ม้าและพ่อม้า เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนย
พันธุ์ดีอื่น ๆ เกิด
2. กินหญ้าสดหรือหญ้าแห้งที่เขาให้อย่างเรียบร้อยไม่เรี่ยราด
3. รังเกียจที่จะหมอบทับหรือนอนทับอุจจาระหรือปัสสาวะ
4. เป็นสัตว์สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่รบกวนม้าอื่น ๆ
5. เป็นสัตว์เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่นายสารถีตาม
ความเป็นจริง
6. นายสารถีพยายามปราบความโอ้อวด ความพยศคดโกงเหล่านั้นของมันได้
7. เป็นสัตว์ลากภาระไปได้ คือ มีความคิดว่า ‘ม้าอื่น ๆ จะลากภาระ
ไปได้หรือไม่ก็ตาม เราจักลากภาระนี้ไปได้’ และเมื่อเดินไปก็เดินไป
ตามทางตรงเท่านั้น
8. เป็นสัตว์มีกำลัง คือทรงกำลังไว้ได้จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชา ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ
นี้แล ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
ฉันใด

เชิงอรรถ :
1 ม้าอาชาไนย หมายถึงม้าที่เกิดในตระกูลม้าสินธพ หรือในตระกูลพญาม้าวลาหก (ธ.อ. 6/112) หรือม้า
รู้เหตุที่ควรและไม่ควร (องฺ.ติก.อ. 2/143/273)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :235 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 3.อัสสาชานิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 8 ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. ฉันโภชนะที่เขาถวาย จะเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม โดยเคารพ
ไม่รังเกียจ
3. รังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจการ
ประกอบบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ
4. เป็นผู้สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุอื่น ๆ
5. เป็นผู้เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่พระศาสดา หรือ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน ตามความเป็นจริง
6. พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน พยายาม
ช่วยกันกำจัดความโอ้อวด ความพยศคดโกงเหล่านั้นของเธอได้
7. เป็นผู้ศึกษา คือ ใฝ่ใจอยู่ว่า ‘ภิกษุอื่น ๆ จะศึกษาหรือไม่ก็ตาม
เฉพาะข้อนี้เราจักศึกษาได้’ เมื่อดำเนินไปก็ดำเนินไปตามทางตรงเท่านั้น
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ
8. เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก
ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด เรายังไม่บรรลุผล
ที่จะพึงบรรลุ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ
ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 8 ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อัสสาชานิยสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :236 }