เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 2.สีหสูตร
ของตนแล้ว จึงให้ไปกราบทูลภัตกาลว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของสีหเสนาบดีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้
สมัยนั้น พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก
สามแยก ทั่วกรุงเวสาลีว่า “วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหารเลี้ยง
พระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
ครั้งนั้นแล มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดีแล้วกระซิบบอกว่า “ท่านครับ
ได้โปรดทราบ พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก
สามแยก ทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหาร
เลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
สีหเสนาบดีตอบว่า “ช่างเถิด ท่านเหล่านั้นประสงค์จะตำหนิพระพุทธเจ้า
ประสงค์จะตำหนิพระธรรม ประสงค์จะตำหนิพระสงฆ์มานานแล้ว และท่านเหล่านั้น
ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ
ไม่เป็นจริง ส่วนพวกเราไม่จงใจฆ่าสัตว์แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต”
จากนั้น สีหเสนาบดีได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานให้ทรงอิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์
จากบาตร สีหเสนาบดีจึงเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มี
พระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก
อาสนะเสด็จจากไป
สีหสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :234 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 3.อัสสาชานิยสูตร
3. อัสสาชานิยสูตร
ว่าด้วยม้าอาชาไนย
[13] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย1พันธุ์ดีของพระราชา ประกอบด้วยองค์
8 ประการ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะ
โดยแท้
องค์ 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้
1. เป็นสัตว์มีกำเนิดดีทั้งฝ่ายแม่ม้าและพ่อม้า เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนย
พันธุ์ดีอื่น ๆ เกิด
2. กินหญ้าสดหรือหญ้าแห้งที่เขาให้อย่างเรียบร้อยไม่เรี่ยราด
3. รังเกียจที่จะหมอบทับหรือนอนทับอุจจาระหรือปัสสาวะ
4. เป็นสัตว์สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่รบกวนม้าอื่น ๆ
5. เป็นสัตว์เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่นายสารถีตาม
ความเป็นจริง
6. นายสารถีพยายามปราบความโอ้อวด ความพยศคดโกงเหล่านั้นของมันได้
7. เป็นสัตว์ลากภาระไปได้ คือ มีความคิดว่า ‘ม้าอื่น ๆ จะลากภาระ
ไปได้หรือไม่ก็ตาม เราจักลากภาระนี้ไปได้’ และเมื่อเดินไปก็เดินไป
ตามทางตรงเท่านั้น
8. เป็นสัตว์มีกำลัง คือทรงกำลังไว้ได้จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชา ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ
นี้แล ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
ฉันใด

เชิงอรรถ :
1 ม้าอาชาไนย หมายถึงม้าที่เกิดในตระกูลม้าสินธพ หรือในตระกูลพญาม้าวลาหก (ธ.อ. 6/112) หรือม้า
รู้เหตุที่ควรและไม่ควร (องฺ.ติก.อ. 2/143/273)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :235 }