เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 1.เวรัญชสูตร
ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูก
ตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าว
หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง
พราหมณ์ ไข่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ที่แม่ไก่กกดีแล้ว ให้ความ
อบอุ่นดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวที่ใช้เล็บหรือจะงอยปากทำลาย
กระเปาะ1ไข่ออกมาได้โดยสวัสดีก่อน ควรเรียกมันว่า ‘เป็นตัวพี่หรือตัวน้อง”
พราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ควรเรียกว่า ‘พี่’ เพราะมันแก่กว่าเขา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เช่นเดียวกันนั่นแหละ พราหมณ์ ในขณะที่หมู่
สัตว์ถูกกระเปาะไข่คืออวิชชาห่อหุ้มอยู่ เราได้ทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชา ผู้เดียว
เท่านั้นสำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม จึงเป็นพี่ใหญ่ผู้ประเสริฐที่สุด
ของโลก
พราหมณ์ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ
พราหมณ์ เรานั้นสงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น2 ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’

เชิงอรรถ :
1 กระเปาะ คือ เปลือกไข่ส่วนที่เป็นสัณฐานนูนกลม คำว่า ‘กระเปาะ‘คือ รูปนูนกลม สิ่งต่างๆ ที่มีสัณฐาน
คล้ายคลึงเช่นนั้น เรียกว่า กระเปาะ เช่น กระเปาะไข่ กระเปาะดอกไม้ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525)
2 เจตโส เอโกทิภาวํ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น คำว่า ‘เอโกทิ’ เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานชื่อว่าเอโกทิภาวะ
เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น’ เพราะ
สมาธิชื่อว่าเอโกทินี้ มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. 1/11/143-144)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :222 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 1.เวรัญชสูตร
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราบรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน1 ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง
2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง
30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง
100,000 ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพ
นั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นแล้ว จึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึก
ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ 1 นี้แล ในยามที่ 1 แห่งราตรี ความมืดมิด
คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ 1 ของเรา
เหมือนการเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินในที่หมายถึงไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น เพราะขจัดปัจจัยมีสุขเป็นต้นได้ ราคะเป็นต้น
ท่านเรียกว่ากิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำโน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่
จตุตถฌานอีก เป็นต้น (วิ.อ. 1/12/155)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :223 }