เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 8.วินยวรรค 1.ปฐมวินยธรสูตร
8. วินยวรรค
หมวดว่าด้วยวินัย1
1. ปฐมวินยธรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของพระวินัยธร สูตรที่ 1
[75] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการ
เป็นพระวินัยธรได้
ธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รู้จักอาบัติ
2. รู้จักอนาบัติ
3. รู้จักลหุกาบัติ
4. รู้จักครุกาบัติ2
5. มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์3 เพียบพร้อมด้วยอาจาระ

เชิงอรรถ :
1 พระสูตรที่ 1-8 ในวรรคนี้ ดูเปรียบเทียบกับคัมภีร์บริวาร (วิ.ป. 8/327/288-291)
2 รู้จักอาบัติ หมายถึงรู้อาบัติที่ท่านแสดงไว้ในสิกขาบทและสิกขาบทวิภังค์ (อธิบายสิกขาบท)
รู้จักอนาบัติ หมายถึงสามารถวินิจฉัยเรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอาบัติแต่ไม่ถึงกับต้องอาบัติ เช่น นางภิกษุณี
อุบลวรรณาถูกข่มขืน ท่านไม่ยินดี จึงไม่ต้องอาบัติ ดู วิ.มหา (แปล) 1/68/56-57
รู้จักลหุกาบัติ หมายถึงรู้ว่าอาบัติ 5 อย่าง คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต จะพ้น
ได้ด้วยวินัยกรรมเบาคือการแสดงอาบัติ(เทสนาวิธี)
รู้จักครุกาบัติ หมายถึงรู้ว่าสังฆาทิเสสจะพ้นได้ด้วยวินัยกรรมหนักคือวุฏฐานวิธี (ระเบียบเครื่องออกจาก
อาบัติ 4 อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา) และรู้ว่าปาราชิกไม่สามารถจะพ้นได้ด้วยวินัย
กรรมอะไร ๆ (วิ.อ. 3/321/442)
3 สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำดังนี้ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบทที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = รักษา + โมกขะ = ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. 1/14/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :171 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 8.วินยวรรค 3.ตติยวินยธรสูตร
และโคจร1 มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย
6. ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
7. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการนี้แล เป็นพระวินัยธรได้
ปฐมวินยธรสูตรที่ 1 จบ

2. ทุติยวินยธรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของพระวินัยธร สูตรที่ 2
[76] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการ เป็นพระวินัยธรได้
ธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รู้จักอาบัติ
2. รู้จักอนาบัติ

เชิงอรรถ :
1 อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและทาง
วาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือ การไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิดที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ เช่น ไม่
เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่า
คฤหัสถ์ ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว
(วิสุทฺธิ. 1/14/18)
โคจร หมายถึงสถานที่เที่ยวไปของภิกษุซึ่งไม่มีหญิงแพศยา(โสเภณี) ไม่มีหญิงหม้าย ไม่มีสาวเทื้อ (สาวแก่)
ไม่มีบัณเฑาะก์ ไม่มีภิกษุณี ไม่มีร้านสุรา ไม่เป็นสถานที่ต้องคลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ และพวก
เดียรถีย์ ตรงกันข้าม ต้องเป็นสถานที่ของตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวะ
อบอวลด้วยกลิ่นฤาษี มุ่งหวังความผาสุกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสถานที่ที่ภิกษุสำรวม
อินทรีย์ 6 งดเว้นการขวนขวายในการดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกต่อกุศล เช่น การฟ้อน ขับร้อง ประโคมดนตรี
อนึ่ง คำว่า โคจร นี้หมายถึงธรรมที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ สติปัฏฐาน 4 (ขุ.ม. (แปล)
29/196/571-572, วิสุทฺธิ 1/14/17-18)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :172 }