เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 2.อนุสยวรรค 1.ปฐมอนุสยสูตร
2. อนุสยวรรค
หมวดว่าด้วยอนุสัย

1. ปฐมอนุสยสูตร
ว่าด้วยอนุสัย สูตรที่ 1
[11] ภิกษุทั้งหลาย อนุสัย1 (กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน) 7 ประการนี้
อนุสัย 7 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. กามราคานุสัย (อนุสัยคือความกำหนัดในกาม)
2. ปฏิฆานุสัย (อนุสัยคือความยินร้าย)
3. ทิฏฐานุสัย (อนุสัยคือความเห็นผิด)
4. วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือความลังเลสงสัย)
5. มานานุสัย (อนุสัยคือความถือตัว)
6. ภวราคานุสัย (อนุสัยคือความติดใจในภพ)
7. อวิชชานุสัย (อนุสัยคือความไม่รู้แจ้ง)

ภิกษุทั้งหลาย อนุสัย 7 ประการนี้แล

ปฐมอนุสยสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู ที.ปา. 11/332/223, สํ.ม. 19/176/55, อภิ.วิ. (แปล) 35/949/605-606

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :17 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 2.อนุสยวรรค 2.ทุติยอนุสยสูตร
2. ทุติยอนุสยสูตร
ว่าด้วยอนุสัย สูตรที่ 2
[12] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย
7 ประการ
ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดกามราคานุสัย
2. ... ปฏิฆานุสัย
3. ... ทิฏฐานุสัย
4. ... วิจิกิจฉานุสัย
5. ... มานานุสัย
6. ... ภวราคานุสัย
7. ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอวิชชานุสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย 7 ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุละกามราคานุสัยได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ละปฏิฆานุสัยได้เด็ดขาด ฯลฯ ทิฏฐานุสัย ฯลฯ วิจิกิจฉานุสัย ฯลฯ มานานุสัย
ฯลฯ ภวราคานุสัย ฯลฯ ละอวิชชานุสัยได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราจึงเรียกว่า ‘ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ’
ทุติยอนุสยสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :18 }