เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 7.มหาวรรค 5.ปาริฉัตตกสูตร
7. สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ออกดอกบานสะพรั่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น ภุมมเทวดากระจายข่าวว่า ‘ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้
เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้มีชื่อนี้ ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากบ้านหรือ
นิคมชื่อโน้น ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’
เทวดาชั้นจาตุมหาราชสดับเสียงของภุมมเทวดาแล้ว ได้กระจายข่าวต่อไป ฯลฯ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ
เทวดาชั้นชั้นยามา ฯลฯ
เทวดาชั้นดุสิต ฯลฯ
เทวดาชั้นนิมมานรดี ฯลฯ
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ
เทวดาชั้นพรหมกายิกา สดับเสียงของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ก็กระจาย
ข่าวว่า ‘ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้มีชื่อนี้ ได้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต จากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วยประการ
ฉะนี้ นี้เป็นอานุภาพของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ
ปาริฉัตตกสูตรที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :149 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 7.มหาวรรค 6.สักกัจจสูตร
6. สักกัจจสูตร
ว่าด้วยความเคารพ
[70] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้น
อย่างนี้ว่า “ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรหนอแลอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้”
ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรจึงมีความคิดดังนี้ว่า
1. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดาอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้
2. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระธรรม ฯลฯ
3. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระสงฆ์ ฯลฯ
4. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยสิกขา ฯลฯ
5. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยสมาธิ ฯลฯ
6. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยความไม่ประมาท ฯลฯ
7. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยปฏิสันถารอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้
ต่อมา ท่านพระสารีบุตรได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมของเราเหล่านี้ บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมของเรา
เหล่านี้จักบริสุทธิ์ และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษได้
ทองคำแท่งอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทองคำแท่งของเรานี้บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไปเสนอทองคำแท่งนี้แก่ช่างทอง ทองคำแท่งของเรา
นี้ไปถึงช่างทองแล้วจักบริสุทธิ์ และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด
ธรรมของเราเหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไป
กราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมของเราเหล่านี้ก็จักบริสุทธิ์ และนับว่า
บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้”
ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรได้ออกจากที่หลีกเร้น1 เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ที่หลีกเร้นในที่นี้หมายถึงการอยู่ผู้เดียวด้วยผลสมาบัติ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/17/106, องฺ.สตฺตก.อ. 3/68/203)
หรือทำนิพพานที่สงบสุขให้เป็นอารมณ์เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (ตามนัย วิ.อ. 1/22/204)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :150 }