เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต 7.มหาวรรค 5.ปาริฉัตตกสูตร
บุคคลเงี่ยโสตฟังสัทธรรมก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้
อีกพวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ ก็ถูก
ติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ ก็ได้รับการสรรเสริญ
ด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความ
แห่งธรรมที่ทรงจำไว้ อีกพวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลพวก
ที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคล
พวกที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่ง
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อีกพวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น อีกพวกหนึ่งปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น บุคคลพวกที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ พวกที่ปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคล 2 ฝ่ายด้วยประการฉะนี้แล ภิกษุชื่อว่า
เป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการนี้แล จึงเป็นผู้ควรแก่ของที่
เขานำมาถวาย ฯลฯ1 เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธัมมัญญูสูตรที่ 4 จบ


เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ 14 หน้า 20 ในเล่มนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :146 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต 7.มหาวรรค 5.ปาริฉัตตกสูตร
5. ปาริฉัตตกสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกเปรียบได้กับต้นปาริฉัตร
[69] ภิกษุทั้งหลาย
1. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจกันว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ
ปาริฉัตรมีใบเหลือง ไม่นานนัก เดี๋ยวใบก็จักร่วงหล่น’
2. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบ สมัยนั้น
เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรผลัดใบแล้ว
ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักผลิดอกออกใบ’
3. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอก
ออกใบ สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรผลิดอกออกใบแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักเป็น
ช่อใบช่อดอก’
4. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นช่อใบ
ช่อดอกแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรเป็นช่อใบช่อดอกแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักมี
ดอกตูม’
5. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีดอกตูมแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ
ปาริฉัตรมีดอกตูมแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักแย้ม’
6. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีดอกแย้มแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ
ปาริฉัตรมีดอกแย้มแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักบานสะพรั่ง’
7. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ออกดอก
บานสะพรั่งแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจ เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 บำเรอตนอยู่ตลอด 4 เดือนทิพย์ ณ
โคนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :147 }