เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 7.มหาวรรค 2.สัตตสุริยสูตร
มหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับพราหมณมหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับ
คหบดีมหาศาล1
ครั้งนั้นแล ครูสุเนตตะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การที่เรามีคติในสัมปรายภพ
เสมอเหมือนกับเหล่าสาวก ไม่สมควรเลย ทางที่ดี เราควรเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้น’
ต่อจากนั้น ครูสุเนตตะได้เจริญเมตตาจิตตลอด 7 ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด
7 สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกเสื่อม ครูสุเนตตะเข้าถึงพรหม
โลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญครูสุเนตตะเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ในพรหมวิมานนั้น ครูสุเนตตะเป็นพรหม เป็นมหาพรหม
เป็นผู้ครอบงำ ไม่ใช่ถูกใครๆ ครอบงำ เป็นผู้เห็นแน่นอน มีอำนาจ ครูสุเนตตะได้
เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพถึง 36 ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะสงคราม มีชนบทที่ถึง
ความมั่นคง ประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ ตั้งหลายร้อยครั้ง ครูสุเนตตะเคยมี
บุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ ครูสุเนตตะนั้น
ปกครองแผ่นดินนี้อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้อง
ใช้ศัสตรา
ภิกษุทั้งหลาย ครูสุเนตตะนั้นเป็นผู้มีอายุยืนนานอย่างนี้ เป็นผู้ดำรงอยู่ได้นาน
อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เราจึงกล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม 4 ประการ
ธรรม 4 ประการ2 อะไรบ้าง คือ
1. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล
2. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ

เชิงอรรถ :
1 มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก คือ ขัตติยมหาศาลมีราชทรัพย์ 100-1,000 โกฏิ พราหมณมหาศาล
มีทรัพย์ 80 โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ 40 โกฏิ (ที.ม.อ. 2/210/193)
2 ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/1/1-2, อภิ.ก. 37/281/108

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :135 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 7.มหาวรรค 3.นคโรปมสูตร
3. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา
4. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ
เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหา
ได้แล้ว ภวเนตติ1สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
พระโคดมผู้มียศตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ2ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์ ปรินิพพาน3แล้ว
สัตตสุริยสูตรที่ 2 จบ

3. นคโรปมสูตร
ว่าด้วยธรรมเปรียบด้วยเครื่องป้องกันนคร
[67] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนคร(เมืองชายแดน)ของพระราชา
เป็นนครที่ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกันนคร 7 ประการ และได้อาหาร 4 อย่าง
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ในกาลนั้น เราจึงเรียกปัจจันต-
นครของพระราชานี้ว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอะไรไม่ได้

เชิงอรรถ :
1 ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ (ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/1/279)
2 จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ 5 คือ (1) จักษุ (ตาเนื้อ) (2) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์) (3) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา)
(4) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (5) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (องฺ.สตฺตก.อ. 3/66/199)
3 ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง (ที.ม.อ. 2/186/169, องฺ.จตุกฺก.อ. 2/1/279)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :136 }