เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 7.มหาวรรค 2.สัตตสุริยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของ
ต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อหิริและโอตตัปปะมี
อินทรียสังวรของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ฉันนั้นเหมือนกัน”
หิริโอตตัปปสูตรที่ 1 จบ

2. สัตตสุริยสูตร
ว่าด้วยดวงอาทิตย์ 7 ดวง
[66] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น
ข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
ภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ ยาว 84,000 โยชน์ กว้าง 84,000 โยชน์
หยั่งลงในมหาสมุทร 84,000 โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป 84,000 โยชน์
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี
หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พีชคาม ภูตคาม และติณชาติที่ใช้เข้ายา
ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นข้อ
กำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ 2
ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 2 ปรากฏ แม่น้ำน้อย หนองน้ำทุกแห่ง ระเหย
เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :132 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 7.มหาวรรค 2.สัตตสุริยสูตร
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ 3 ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 3 ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู
มหี ทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ 4 ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 4 ปรากฏ แหล่งน้ำใหญ่ๆ ที่เป็นแดนไหลมารวมกันของแม่
น้ำใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ สระอโนดาด สระสีหปปาตะ สระรถการะ สระกัณณมุณฑะ
สระกุณาลา สระฉัททันต์ สระมันทากินี ทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ 5 ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 5 ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก 100 โยชน์ก็ดี 200 โยชน์
ก็ดี 300 โยชน์ก็ดี 400 โยชน์ก็ดี 500 โยชน์ก็ดี 600 โยชน์ก็ดี 700 โยชน์ก็ดี
งวดลงเหลืออยู่เพียง 7 ชั่วต้นตาลก็มี 6 ชั่วต้นตาลก็มี 5 ชั่วต้นตาลก็มี 4 ชั่ว
ต้นตาลก็มี 3 ชั่วต้นตาลก็มี 2 ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี เหลืออยู่เพียง
7 ชั่วคน 6 ชั่วคน 5 ชั่วคน 4 ชั่วคน 3 ชั่วคน 2 ชั่วคน ชั่วคนเดียว ชั่วครึ่ง
คนเพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า ภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่
เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้น ๆ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเม็ดใหญ่ ๆ ตกลงมา
น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้น ๆ ฉะนั้นเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 5 ปรากฏ น้ำใน
มหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ 6 ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 6 ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควัน
พวยพุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย นายช่างหม้อเผาหม้อที่เขาปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควัน
พวยพุ่งขึ้น ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ 6 ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :133 }