เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 1.ธนวรรค 7.อุคคสูตร
7. อุคคสูตร
ว่าด้วยมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะ
[7] ครั้งนั้น ราชมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร1 ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่มิคารเศรษฐีผู้เป็น
หลานของโรหณเศรษฐีนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มากถึงเพียงนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุคคะ มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานของโรหณเศรษฐี
เป็นผู้มั่งคั่งเพียงไร มีทรัพย์มากเท่าไร มีโภคทรัพย์มากเท่าไร”
อุคคมหาอำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เขามีทองแสนหนึ่ง ไม่จำ
ต้องกล่าวถึงเงิน”2
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่จริง เรามิได้กล่าวว่า ทรัพย์นั้น
ไม่มี แต่ทรัพย์นั้นแลเป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
อุคคะ ทรัพย์ 7 ประการนี้แล เป็นของไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร และ
ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ทรัพย์ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. สัทธาธนะ 2. สีลธนะ
3. หิริธนะ 4. โอตตัปปธนะ
5. สุตธนะ 6. จาคธนะ
7. ปัญญาธนะ

อุคคะ ทรัพย์ 7 ประการนี้แล เป็นของไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร และ
ทายาทผู้ไม่ที่เป็นรัก

เชิงอรรถ :
1 ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ 6 ประการ คือ (1) ไกลเกินไป (2) ใกล้เกินไป
(3) อยู่เหนือลม (4) อยู่สูงเกินไป (5) อยู่ตรงหน้าเกินไป (6) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. 2/16/15)
2 เงิน ในที่นี้หมายถึงเครื่องเงิน เช่น ถ้วย โถ โอ ชาม ขันน้ำ และเครื่องปูลาด เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ.
3/7/157)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :13 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 1.ธนวรรค 8.สัญโญชนสูตร
ผู้ใดจะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
มีทรัพย์ 7 ประการนี้ คือ สัทธาธนะ
สีลธนะ หิริธนะ โอตตัปปธนะ
สุตธนะ จาคธนะ และปัญญาธนะ
ผู้นั้นแลเป็นคนมีทรัพย์มาก
ใคร ๆ ไม่พึงชนะได้ทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใสและการเห็นธรรม
อุคคสูตรที่ 7 จบ

8. สัญโญชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์1
[8] ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ (กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ) 7 ประการนี้
สังโยชน์ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. อนุนยสังโยชน์2 (สังโยชน์คือความยินดี)
2. ปฏิฆสังโยชน์ (สังโยชน์คือความยินร้าย)
3. ทิฏฐิสังโยชน์ (สังโยชน์คือความเห็นผิด)
4. วิจิกิจฉาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความลังเลสงสัย)
5. มานสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือตัว)
6. ภวราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความติดใจในภพ)
7. อวิชชาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความไม่รู้แจ้ง)

ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ 7 ประการนี้แล

สัญโญชนสูตรที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ปา 11/332/223, สํ.ม. 19/180-181/56-57, องฺ.ทสก. (แปล) 24/13/21, อภิ.วิ. (แปล)
35/940/592,949/606)
2 อนุนยสังโยชน์ หมายถึงกามราคสังโยชน์ (องฺ.สตฺตก.อ.3/8/160)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :14 }