เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 11.โกธนสูตร
บุคคลผู้มัวเมาด้วยความมัวเมาเพราะโกรธ
ย่อมถึงความเสื่อมยศ
ญาติมิตรและสหาย ย่อมหลีกเว้นบุคคลผู้มักโกรธ
ความโกรธก่อความเสียหาย
ความโกรธทำจิตให้กำเริบ
บุคคลผู้มักโกรธย่อมไม่รู้ภัยที่เกิดจากภายใน
บุคคลผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ
บุคคลผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม
ความโกรธครอบงำนรชนในกาลใด
ความมืดย่อมมีในกาลนั้น
บุคคลผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว
เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
บุคคลผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยาก1ก่อน
เหมือนไฟแสดงควันก่อน
ความโกรธเกิดขึ้นในกาลใด
คนทั้งหลายย่อมโกรธในกาลนั้น
บุคคลผู้โกรธไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
ไม่มีคำพูดที่น่าเคารพ
บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำไม่มีความสว่างแม้แต่น้อย
กรรมเหล่าใดห่างไกลจากธรรม เป็นเหตุให้เดือดร้อน
เราจักบอกกรรมเหล่านั้น
เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ

เชิงอรรถ :
1 ความเก้อยาก ในที่นี้หมายถึงความทุศีล อาการที่ล่วงละเมิดสิกขาบท โดยไม่รู้สึกละอาย ไม่ยอมรับ ทั้งยัง
รุกรานสงฆ์ว่า ‘ท่านเห็น ท่านได้ยินหรือว่าข้าพเจ้าทำผิดอะไร พวกท่านยกอาบัติอะไรขึ้นปรับข้าพเจ้า’
(เทียบ องฺ.ทสก.อ. 3/31/342)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :128 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 11.โกธนสูตร
บุคคลผู้โกรธ ฆ่าบิดาก็ได้
บุคคลผู้โกรธ ฆ่ามารดาก็ได้
บุคคลผู้โกรธ ฆ่าพราหมณ์1ก็ได้
บุคคลผู้โกรธ ฆ่าปุถุชนก็ได้
ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตามองโลกนี้
เป็นผู้มีกิเลสหนา โกรธขึ้นมา
ย่อมฆ่าแม้มารดาผู้ให้ชีวิตนั้น
สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง
ผู้โกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ2 ย่อมฆ่าตนเองเพราะเหตุต่างๆ
คือฆ่าตนเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษตายบ้าง
ใช้เชือกผูกคอตายบ้าง กระโดดลงในซอกเขาตายบ้าง
คนเหล่านั้นเมื่อทำกรรม
อันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตน ก็ไม่รู้สึก
ความเสื่อมเกิดจากความโกรธ
ตามที่กล่าวมา ความโกรธนี้ เป็นบ่วงแห่งมัจจุ
มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย โดยรูปของความโกรธ
พึงตัดความโกรธนั้นด้วยทมะ (ความข่มใจ)
คือปัญญา3 ความเพียร4และทิฏฐิ5

เชิงอรรถ :
1 พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/64/197)
2 รูปต่างๆ ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ต่างๆ (องฺ.สตฺตก.อ.3/64/197)
3 ปัญญา ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ.3/64/197)
4 ความเพียร ในที่นี้หมายถึงความเพียรทางกายและจิตอันประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ.
3/64/197)
5 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์แห่งอริยมรรค (องฺ.สตฺตก.อ.3/64/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :129 }