เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 9.เมตตสูตร
9. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตาจิต
[62] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า บุญ นี้ เป็นชื่อ
ของความสุข เราย่อมรู้ชัดว่าบุญที่เราทำแล้วตลอดกาลนาน มีผลที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ อันเราเสวยมาแล้วตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด 7 ปี
ไม่ได้กลับมาสู่โลกนี้อีกตลอด 7 สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป1 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกเสื่อม
เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญ เราเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ในพรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้
ครอบงำ ไม่ใช่ถูกใครๆ ครอบงำ เป็นผู้เห็นแน่นอน2 มีอำนาจ เราได้เป็นท้าวสักกะ
ผู้เป็นจอมเทพถึง 36 ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา
มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะสงคราม มีชนบทที่ถึงความมั่นคง
ประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ ตั้งหลายร้อยครั้ง เรานั้นมีรัตนะ 7 ประการนี้3 คือ

1. จักรแก้ว 2. ช้างแก้ว
3. ม้าแก้ว 4. มณีแก้ว
5. นางแก้ว 6. คหบดีแก้ว
7. ขุนพลแก้ว

เราเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้
เรานั้นปกครองแผ่นดินนี้อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา

เชิงอรรถ :
1 สังวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเสื่อม ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเจริญ ได้แก่ ช่วงระยะ
เวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. 1/12/158)
2 เห็นแน่นอน หมายถึงเห็นเหตุการณ์อดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างชัดเจนด้วยอภิญญาญาณ (องฺ.
สตฺตก.ฏีกา 3/62/224)
3 ดู ที.ม. 10/243-251/150-154 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :120 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 9.เมตตสูตร
จงดูวิบากแห่งบุญกุศล
ของบุคคลผู้แสวงหาความสุข
ภิกษุทั้งหลาย เราเจริญเมตตาจิตมา 7 ปี
ไม่มาสู่โลกนี้อีกตลอด 7 สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป
เมื่อโลกเสื่อม เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ
เมื่อโลกเจริญ เราเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า
ในกาลนั้น เราเป็นมหาพรหมผู้มีอำนาจถึง 7 ครั้ง
เป็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ เสวยเทพสมบัติ 36 ครั้ง
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวชมพูทวีป
เป็นกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์
ปกครองปฐพีมณฑลนี้โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา
สั่งสอนคนในปฐพีมณฑลนั้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน
ครั้นได้ครองราชสมบัติในปฐพีมณฑลนี้โดยธรรมแล้ว
ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
เพียบพร้อมด้วยรัตนะ 7 ประการ
ที่อำนวยความประสงค์ได้ทุกอย่าง
ฐานะนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงสงเคราะห์โลก ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เหตุที่เขาเรียกว่า เจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเป็นใหญ่
เราเป็นพระราชาผู้เรืองเดช
มีทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :121 }