เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 8.จปลายมานสูตร
8. จปลายมานสูตร
ว่าด้วยอุบายแก้ความง่วง
[61] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามิคทายวัน เขตกรุง
สุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กำลังนั่งง่วงอยู่
ที่หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นท่าน
พระมหาโมคคัลลานะกำลังนั่งง่วงอยู่ ใกล้หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ แล้วได้ทรงหายไปจากป่าเภสกลามิคทายวัน
เขตกรุงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ไปปรากฏต่อหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะใกล้
หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือ
คู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้1แล้ว ได้ตรัสกับท่าน
พระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “เธอง่วงหรือ โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ โมคคัลลานะ”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
1. เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้น ย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่า
ได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น
จะละความง่วงนั้นได้
2. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงตรึกตรองพิจารณา
ธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมา เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วง
นั้นได้

เชิงอรรถ :
1 พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ หมายถึง พุทธอาสน์ คือ ตั่ง เตียง แผ่นกระดาน แผ่นหิน หรือกองทรายที่ภิกษุผู้
บำเพ็ญเพียรปูลาดไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคที่จะเสด็จมาให้โอวาท ถ้าหาอาสนะอย่างนั้นไม่ได้
จะใช้ใบไม้แห้งปูลาดก็ได้ โดยลาดสังฆาฏิไว้บน นี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร (องฺ.ฉกฺก.อ.
3/55/135, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/55/147)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :116 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 8.จปลายมานสูตร
3. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงสาธยายธรรมตาม
ที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วง
นั้นได้
4. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงยอนช่องหูทั้ง 2 ข้าง
ใช้มือบีบนวดตัว เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้
5. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบตา
เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตร เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความ
ง่วงนั้นได้
6. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงมนสิการถึงอาโลก-
สัญญา(ความกำหนดหมายแสงสว่าง) ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวันไว้ คือกลางวัน
อย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันก็อย่างนั้น มีใจเปิดเผย
ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตให้โปร่งใส เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้
7. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงอธิษฐานจงกรม
กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ภายใน มีใจไม่คิดไปภายนอก
เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้
ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น เธอยังละความง่วงนั้นไม่ได้ ก็พึงสำเร็จสีหไสยา(การ
นอนดุจราชสีห์)โดยตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐาน-
สัญญา(กำหนดหมายว่าจะลุกขึ้น)ไว้ในใจ พอตื่น ก็รีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า‘เราจักไม่
ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอกเขนก ไม่ประกอบ
ความสุขในการหลับ’ โมคคัลลานะ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ชูงวง1
เข้าไปยังตระกูล’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1งวง ในที่นี้หมายถึงมานะ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/61/192)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :117 }