เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 3.ติสสพรหมสูตร
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของติสสพรหม
แล้วได้หายจากพรหมโลกไปปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงถ้อยคำสนทนาปราศรัย
กับติสสพรหมทั้งหมด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ติสสพรหมไม่ได้แสดงบุคคลที่ 7 ผู้มี
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้1แก่เธอหรือ”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาล
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงบุคคลที่ 7 ผู้มีธรรม
เป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้ ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า “โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยบรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่
มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้
บรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เป็นการดี
ถ้าท่านผู้นี้ใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้ง
ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือน บวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
โมคคัลลานะ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้แล ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า
‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
ติสสพรหมสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้ ในที่นี้หมายถึงพลววิปัสสนาสมาธิ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/56/191)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :108 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 4.สีหเสนาปติสูตร
4. สีหเสนาปติสูตร
ว่าด้วยสีหเสนาบดี
[57] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเองได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เราจะย้อนถามท่านในปัญหานั้น
ท่านพึงตอบปัญหานั้นตามที่ท่านชอบใจ สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ
ในกรุงเวสาลีนี้ มีคน 2 คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ
อีกคนหนึ่งมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ
สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์
ใครก่อน ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนไม่มี
ศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษก่อนได้อย่างไร พระอรหันต์เมื่อจะ
อนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอก่อน
แน่แท้”
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา พึงเข้าไปหา
ใครก่อน ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนไม่มีศรัทธา
ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษก่อนได้อย่างไร พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา พึงเข้า
ไปหาคนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอก่อนแน่แท้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :109 }