เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 7. ฐานสูตร
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นพาภิกษุสัทธิวิหาริกนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุ
นี้กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ กายของผมไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลาย
ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งแก่ผม ผมไม่ถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์ และไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ การที่กายของเธอไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลาย
ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งแก่เธอ ถีนมิทธะไม่ครอบงำจิต ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ และไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้ง
กุศลธรรม ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายทุกวันทุกคืน เพราะเหตุ
นั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักคุ้มครองทวารในอินทรีย์ รู้จัก
ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรม ประกอบ
การเจริญโพธิปักขิยธรรมทุกวันทุกคืน’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
อุปัชฌายสูตรที่ 6 จบ

7. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ควรพิจารณาเนือง ๆ
[57] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 5 ประการนี้ ที่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
ต้องพิจารณาเนือง ๆ
ฐานะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณา เนือง ๆ ว่า
1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
2. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
3. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 7. ฐานสูตร
4. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
5. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้จะเป็น
กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความแก่
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในความเป็น
หนุ่มสาวซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ
เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้
โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความแก่
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในความไม่
มีโรคซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่ว
ด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้น
ได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความตาย
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้‘ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในชีวิตซึ่ง
เป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขา
พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้
เบาบางลงได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :100 }