เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 6. อุปัชฌายสูตร
ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้กาม1
เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ เที่ยวไป
ชนเหล่านั้นผู้บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ
เป็นผู้ถึงฝั่ง2ในโลก
มาตาปุตตสูตรที่ 5 จบ

6. อุปัชฌายสูตร
ว่าด้วยอุปัชฌาย์3
[56] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ของตนถึงที่อยู่ ได้กล่าว
ดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ผม
ธรรมทั้งหลาย4ก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ผมถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”
ต่อมา ภิกษุนั้นพาภิกษุสัทธิวิหาริก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เดี๋ยวนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลาย
ไม่ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ผมถูกถีนมิทธะครอบงำจิต
ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
1 กำหนดรู้กาม ในที่นี้หมายถึงกำหนดรู้กามทั้งสอง คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม ด้วยปริญญา 3 คือ
(1) ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว (2) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา
(3) ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/55/30)
2 เป็นผู้ถึงฝั่ง ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/55/30)
3 อุปัชฌาย์ หมายถึงครูผู้คอยเพ่งโทษน้อยใหญ่ ได้แก่ ผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
และเป็นผู้คอยดูแลผิดและชอบ อบรมให้การศึกษา (วชฺชาวชฺชํ อุปนิชฺฌายตีติ อุปชฺฌาโย) (วิ.อ. 3/64-65/
32, สารตฺถ.ฏีกา 3/64/281)
4 ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสมถะ(การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ) และวิปัสสนา(ความเห็นแจ้ง) (องฺ.ปญฺจก.อ.
3/55/30)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :97 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 6. อุปัชฌายสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ การที่กายของเธอหนักขึ้น ทิศทั้งหลายไม่
ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียร
เป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิย-
ธรรมทั้งหลายทุกวันทุกคืน เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเป็นเครื่อง
ตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายทุกวัน
ทุกคืน’ ภิกษุ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
ครั้งนั้น ภิกษุนั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทนี้แล้วก็ลุกจาก
อาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ลำดับนั้น ภิกษุนั้นหลีกออกไปอยู่
ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้ง
ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม1อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ2เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป3’ ก็ภิกษุนั้นได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์
ทั้งหลาย
ครั้นภิกษุนั้นได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์
ของตนถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ กายของผมไม่หนักขึ้น
ทิศทั้งหลายปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งแก่ผม ผมไม่ถูกถีนมิทธะ
ครอบงำจิต ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
1 ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
2/5/7, ม.ม.อ.2/82/80)
2 กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจ 4 อย่าง คือ ปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) ปหานกิจ (หน้าที่ละเหตุ
เกิดทุกข์) สัจฉิกิริยากิจ (หน้าที่ทำให้แจ้งความดับทุกข์) และภาวนากิจ (หน้าที่อบรมมรรคมีองค์ 8 ให้เจริญ)
เป็นกิจในอริยสัจ 4 (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/49/128, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/49/141, ที.สี.อ. 248/203)
3 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ในที่นี้หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณ (ญาณในขั้น
อริยมรรค)เพื่อความสิ้นกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมาย
สูงสุดแล้ว (ที.สี.อ. 248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :98 }