เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. มุณฑราชวรรค 3. อิฏฐสูตร
4. ยศที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
5. สวรรค์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
คหบดี ธรรม 5 ประการนี้แล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม 5 ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เรามิได้
กล่าวว่า จะพึงได้เพราะความอ้อนวอน หรือเพราะความปรารถนา ถ้าธรรม 5
ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก จักได้เพราะการ
อ้อนวอน หรือเพราะความปรารถนาในโลกนี้แล้ว ใครเล่าจะพึงเสื่อมจากอะไรได้
อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินอายุ หรือปฏิบัติ
ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุเพราะอายุเป็นเหตุ แท้จริงปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุที่
อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ อริยสาวกนั้นย่อมได้อายุอัน
เป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือ
ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะเพราะวรรณะเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็น
ไปเพื่อวรรณะที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้วรรณะ อริยสาวกนั้น
ย่อมได้วรรณะอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสุข หรือปฏิบัติ
ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขเพราะสุขเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขที่อริย-
สาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้นย่อมได้สุขอันเป็นทิพย์
หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการยศ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินยศ หรือปฏิบัติ
ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศเพราะยศเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศที่อริย-
สาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ยศ อริยสาวกนั้นย่อมได้ยศอันเป็นทิพย์
หรือเป็นของมนุษย์
คหบดี อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสวรรค์
หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์เพราะสวรรค์เป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :68 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. มุณฑราชวรรค 4. มนาปทายีสูตร
เป็นไปเพื่อสวรรค์อันอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวก
นั้นย่อมได้สวรรค์
ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ เกียรติยศ
สวรรค์ การเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ
พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น
บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้
คือประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า
ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า บัณฑิต
เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้งสองนั้นแล้ว
อิฏฐสูตรที่ 3 จบ

4. มนาปทายีสูตร
ว่าด้วยผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ
[44] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวรเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ของอุคคคหบดีชาวกรุงเวสาลี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่
ปูลาดไว้ ลำดับนั้น อุคคคหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี
พระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจ ย่อมได้ของที่น่าพอใจ’ ก็ของเคี้ยวชื่อสาลปุปผกะ1
เป็นที่น่าพอใจของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับ
ขาทนียาหารของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
1 ของเคี้ยวชื่อสาลปุปผกะ หมายถึงของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งข้าวสาลี ปรุงด้วยของอร่อย 4 ชนิด คือ เนยใส
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/44/25)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :69 }