เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. สุมนวรรค 9. ปุตตสูตร
ต้นไม้ใหญ่ มีกิ่ง ใบ และผล
มีลำต้นแข็งแรง มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล
ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย
ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้นซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุข
ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา
ผู้ต้องการผล ย่อมบริโภคผลได้ ฉันใด
ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ
ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นนาบุญของโลก
ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธาซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล
ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง1 สุภาพ
น่าชื่นชม อ่อนโยน มั่นคง ฉันนั้น
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรม
เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขารู้ชัดธรรมนั้นแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้
สัทธสูตรที่ 8 จบ

9. ปุตตสูตร
ว่าด้วยบุตร
[39] ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดา เมื่อเห็นฐานะ 5 ประการนี้ จึงปรารถนา
บุตรผู้เกิดในตระกูล
ฐานะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงเรา
2. บุตรจักช่วยทำกิจของเรา

เชิงอรรถ :
1 ไม่กระด้าง หมายถึงปราศจากความกระด้าง คือ โกธะ (ความโกรธ) และมานะ (ความถือตัว) (องฺ.ปญฺจก.อ.
3/38/23)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :60 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. สุมนวรรค 9. ปุตตสูตร
3. วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
4. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมควรรับทรัพย์มรดกไว้
5. เมื่อเราทั้งสองตายไป บุตรจักทำบุญอุทิศให้
ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเมื่อเห็นฐานะ 5 ประการนี้แล จึงปรารถนาบุตรผู้
เกิดในตระกูล
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะ 5 ประการ จึงปรารถนาบุตร
ด้วยหวังว่า ‘บุตรที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา
จักช่วยทำกิจของเรา
วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
จักปฏิบัติตนให้สมควรแก่การรับทรัพย์มรดก
และเมื่อเราทั้งสองตายแล้วจักทำบุญอุทิศให้’
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร
เพราะฉะนั้น บุตรผู้เป็นสัตบุรุษ ผู้สงบ
เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล
เมื่อระลึกถึงคุณท่านที่ทำไว้ต่อเราก่อน
จึงเลี้ยงมารดาบิดา ช่วยทำกิจของท่าน
เชื่อฟังโอวาท ตอบสนองพระคุณท่าน
ดำรงวงศ์ตระกูลสมกับที่ท่านเป็นบุพการี
บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมเป็นที่สรรเสริญ
ปุตตสูตรที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :61 }