เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 7. เทวตาวรรค 7. สักขิภัพพสูตร
7. สักขิภัพพสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัด
[71] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 6 ประการ เป็นผู้ไม่อาจ
บรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อมีเหตุ1
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายเสื่อม’
2. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายคงที่’
3. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายคุณวิเศษ’
4. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายชำแรกกิเลส2’
5. เป็นผู้ไม่ทำความเคารพ3
6. เป็นผู้ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ4
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 6 ประการนี้แล เป็นผู้ไม่อาจบรรลุ
ความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อมีเหตุ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ปัญจกนิบาต ข้อ 23 (อุปกิเลสสูตร) หน้า 28 ในเล่มนี้
2 ธรรมฝ่ายเสื่อม หมายถึงสมาธิที่ยังมีนิวรณ์ 5 เกิดขึ้นในปฐมฌาน หรือยังมีสัญญามนสิการที่ประกอบ
ด้วยกามเกิดขึ้นอยู่
ธรรมฝ่ายคงที่ หมายถึงสมาธิของบุคคลผู้มีมิจฉาสติ คือความยินดี พอใจ ติดใจ หยุดอยู่เพียงแค่ปฐม-
ฌานนั้น ไม่เสื่อม ไม่เจริญ เพราะเข้าใจว่าปฐมฌานละเอียดแล้ว ประณีตแล้ว
ธรรมฝ่ายคุณวิเศษ หมายถึงสมาธิที่คล่องแคล่วเกิดขึ้นในปฐมฌาน แต่มีมนสิการถึงทุติยฌานว่าไม่มีวิตก
มีสัญญามนสิการคอยตักเตือนเพื่อให้บรรลุทุติยฌาน จึงออกจากปฐมฌาน
ธรรมฝ่ายชำแรกกิเลส หมายถึงสมาธิที่มีสัญญามนสิการประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ตักเตือนเพื่อทำให้
แจ้งนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/71-74/175-176, วิสุทธิ. 1/39/94-96) และดู อภิ.วิ. (แปล) 35/799/
511-512
3 ไม่ทำความเคารพ ในที่นี้หมายถึงไม่ทำให้ดี กล่าวคือ ไม่เอื้อเฟื้อเอาใจใส่ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/71/152)
4 ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายถึงไม่ประพฤติธรรมที่เป็นอุปการะ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/71/152)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :593 }