เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 7. เทวตาวรรค 2. อรหัตตสูตร
2. อรหัตตสูตร
ว่าด้วยอรหัตตผล
[66] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. ถีนะ (ความหดหู่) 2. มิทธะ (ความเซื่องซึม)
3. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) 4. กุกกุจจะ (ความร้อนใจ)
5. อัสสัทธิยะ (ความไม่มีศรัทธา) 6. ปมาทะ (ความประมาท)

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ภิกษุละธรรม 6 ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอรหัตตผลได้
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. ถีนะ 2. มิทธะ
3. อุทธัจจะ 4. กุกกุจจะ
5. อัสสัทธิยะ 6. ปมาทะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม 6 ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
อรหัตตสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :585 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 7. เทวตาวรรค 3. มิตตสูตร
3. มิตตสูตร
ว่าด้วยมิตร
[67] ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว เสพ คบ เข้าไปนั่ง
ใกล้มิตรชั่ว และประพฤติตามมิตรชั่วเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญอภิสามาจาริกธรรม1ให้
บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
เสขธรรม2ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีล
ทั้งหลาย3ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ
รูปราคะ หรืออรูปราคะได้
ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้มิตรดี
และประพฤติตามมิตรดีเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญเสขธรรม
ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้
บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ รูปราคะ
หรืออรูปราคะได้
มิตตสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1,2,3 ดูเชิงอรรถที่ 1,2,3 ปัญจกนิบาต ข้อ 21 หน้า 24 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :586 }