เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริงนั้น เป็นของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ
ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ
และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัตินั้น เป็นของบุคคล
ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อนได้ตามความเป็นจริงนั้น เป็นของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดจุติและการเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริงนั้น เป็น
ของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะทั้งหลายตามความเป็นจริงนั้น เป็นของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย สมาธิเป็นมรรค1 อสมาธิเป็นกุมมรรค2 ด้วยประการฉะนี้แล
สีหนาทสูตรที่ 10 จบ
มหาวรรคที่ 6 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. โสณสูตร 2. ผัคคุณสูตร
3. ฉฬภิชาติสูตร 4. อาสวสูตร
5. ทารุกัมมิกสูตร 6. หัตถิสารีปุตตสูตร
7. มัชเฌสูตร 8. ปุริสินทริยญาณสูตร
9. นิพเพธิกสูตร 10. สีหนาทสูตร


เชิงอรรถ :
1 มรรค ในที่นี้หมายถึงอุบายแห่งการบรรลุญาณทั้งหลาย ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/64/150-
151) และดู อภิ.วิ.(แปล) 35/206/174,486/371
2 กุมมรรค ในที่นี้หมายถึงมิจฉามรรคกล่าวคือทางผิดจากการบรรลุญาณทั้งหลาย ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ (เห็น
ผิด) มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด) มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด) มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
มิจฉาวายามะ (พยายามผิด) มิจฉาสติ (ระลึกผิด) มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด) (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/64/150-
151) และดู อภิ.วิ.(แปล) 35/936/586,956/612-613

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :583 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 7. เทวตาวรรค 1. อนาคามิผลสูตร
7. เทวตาวรรค
หมวดว่าด้วยเทวดา

1. อนาคามิผลสูตร
ว่าด้วยอนาคามิผล
[65] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้ ธรรม1 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความไม่มีศรัทธา 2. ความไม่มีหิริ
3. ความไม่มีโอตตัปปะ 4. ความเกียจคร้าน
5. ความหลงลืมสติ 6. ความมีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้
ภิกษุละธรรม 6 ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอนาคามิผลได้
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความไม่มีศรัทธา 2. ความไม่มีหิริ
3. ความไม่มีโอตตัปปะ 4. ความเกียจคร้าน
5. ความหลงลืมสติ 6. ความมีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม 6 ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้
อนาคามิผลสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู อภิ.สงฺ. (แปล) 34/1328,1329/332, อภิ.วิ. (แปล) 35/900/563, 960/565,928/581,930/
582,932/584,935/585

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :584 }