เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. สุมนวรรค 7. โภชนทานสูตร
ทานที่ให้ในพระอริยะผู้ซื่อตรง ผู้คงที่
ย่อมเป็นทักษิณาที่ไพบูลย์
ทำให้เขามีใจผ่องใส
ชนเหล่าใดอนุโมทนาหรือขวนขวายในทักษิณานั้น
เพราะการอนุโมทนาหรือขวนขวายของชนเหล่านั้น
ทักษิณาย่อมมีผลไม่พร่อง
แม้พวกเขาก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย
จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
กาลทานสูตรที่ 6 จบ

7. โภชนทานสูตร
ว่าด้วยการให้โภชนะ
[37] ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าให้ฐานะ 5 ประการแก่ปฏิคาหก
ฐานะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อายุ 2. วรรณะ
3. สุข 4. พละ
5. ปฏิภาณ1
ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมมีส่วนได้อายุอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้
วรรณะแล้ว ย่อมมีส่วนได้วรรณะอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว
ย่อมมีส่วนได้สุขอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้ว ย่อมมีส่วนได้
พละอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมมีส่วนได้ปฏิภาณอัน
เป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าให้ฐานะ 5 ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ปฏิภาณ ในที่นี้หมายถึงยุตตปฏิภาณ คือ ตอบปัญหาได้ถูกต้องตามเนื้อหาสาระและเหตุต่าง ๆ แต่ตอบ
ช้าไม่ตอบเร็ว และมุตตปฏิภาณ คือ ตอบปัญหาได้รวดเร็วในขณะที่ถามทีเดียว (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/132/380)
และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/132/201-202, อภิ.ปุ. (แปล) 36/152-155/187

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :58 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. สุมนวรรค 8. สัทธสูตร
นักปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุ ย่อมได้อายุ
ให้พละ ย่อมได้พละ ให้วรรณะ ย่อมได้วรรณะ
ให้ปฏิภาณ ย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุข ย่อมได้สุข
ครั้นให้อายุ พละ วรรณะ สุขะ และปฏิภาณแล้ว
จะเกิดในที่ใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่นั้น ๆ
โภชนสูตรที่ 7 จบ

8. สัทธสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์แห่งศรัทธา
[38] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการ
อานิสงส์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบในโลก
1. เมื่อจะอนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อน ไม่อนุเคราะห์
ผู้ไม่มีศรัทธาก่อน
2. เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อน ไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธา
ก่อน
3. เมื่อจะต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อน ไม่ต้อนรับผู้ไม่มี
ศรัทธาก่อน
4. เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อน ไม่แสดง
ธรรมแก่ผู้ไม่มีศรัทธาก่อน
5. กุลบุตรผู้มีศรัทธา หลังจากตายแล้วย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการนี้แล
เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของ
หมู่นกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของคน
หมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :59 }