เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 10. สีหนาทสูตร
รู้บทเดียวหรือสองบทเพื่อดับทุกข์นี้ได้’ เรากล่าวว่าทุกข์นั้นมีความหลงเป็นผล หรือ
มีการแสวงหาเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล นี้เรียกว่า วิบากแห่งทุกข์
ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เพราะตัณหาดับ ทุกข์จึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ คือ
1. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
8. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งทุกข์อย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งทุกข์
อย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์อย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็น
เหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์นี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความ
ต่างกันแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนี้นั้น เป็นอย่างนี้แล
นิพเพธิกสูตรที่ 9 จบ
10. สีหนาทสูตร1
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท
[64] ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต 6 ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้วเป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท2

เชิงอรรถ :
1 ดูมหาสีหนาทสูตร (ม.มู. 12/148/107-110, องฺ.ทสก. (แปล) 24/21/43)
2 ดูเชิงอรรถที่ 2-5 ปัญจกนิบาต ข้อ 11 (อนุสสุตสูตร) หน้า 15 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :579 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 10. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคต 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้
ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะ
โดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร
ในบริษัท
2. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด
วิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดย
ฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร
ในบริษัท
3. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง1 ความผ่องแผ้ว2 แห่งฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติ3 และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง นี้เป็น

เชิงอรรถ :
1 ความเศร้าหมอง ในที่นี้หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อมได้แก่กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรค
ต่อการเจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. 3/21/329, องฺ.ทสก.ฏีกา
3/21/392) และดู องฺ.นวก. 23/41/362-369
2 ความผ่องแผ้ว ในที่นี้หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลาย
ไปแห่งปีติ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. 3/21/
329, องฺ.ทสก.ฏีกา 3/21/392) และดู องฺ.นวก. 23/41/362-369
3 ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน 4 (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
จตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. 3/21/329) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ 8 มีข้อว่า ‘ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย’
เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. 3/21/329) และดู ที.ปา. 11/339/231, องฺ.อฏฺ_ก. 23/119/289 สมาธิ หมายถึง
สมาธิ 3 คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มี
วิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) (องฺ.ทสก.อ. 3/21/329) และดู ขุ.ป.
31/43/50 สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ 9 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 และสัญญาเวทยิตนิโรธ 1
(องฺ.ทสก.อ. 3/21/329) และดู องฺ.นวก. 23/32/336, อภิ.วิ. (แปล) 35/828/531

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :580 }