เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 9. นิพเพธิกสูตร
ความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เธอ
จึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับอาสวะนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม บุคคล
คิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ
เหตุเกิดแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างกันแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่พึงเสวยในนรกก็มี กรรมที่พึงเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี
กรรมที่พึงเสวยในแดนเปรตก็มี กรรมที่พึงเสวยในมนุษยโลกก็มี กรรมที่พึงเสวยใน
เทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี 3 ประการ คือ
1. กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน
2. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไป
3. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป1
นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม
ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ กรรมจึงดับ

เชิงอรรถ :
1 กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐเวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไปเรียกว่า อุปปัชช-
เวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม (องฺ.เอกาทสก. (แปล)
24/217/357, อภิ.ก.37/635/385, 890-891/506-507)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :577 }