เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 9. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า กามคุณ 5 ประการนี้ คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
3. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
4. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
5. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เรียกว่ากาม สิ่งเหล่านี้ เรียกว่ากามคุณ1
ในอริยวินัย
[พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า]
สังกัปปราคะ2ของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากาม
สังกัปปราคะของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลก
ตั้งอยู่ตามสภาพของตนเท่านั้น
แต่ธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจ
ในอารมณ์ที่วิจิตรเหล่านั้นได้3

เชิงอรรถ :
1 กามคุณ แยกอธิบายว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่บุคคลพึงใคร่ ที่ชื่อว่า คุณ เพราะมี
ความหมายว่า ผูกพันไว้ ร้อยรัดไว้ ดุจคำว่า “อนฺตํ อนฺตคุณํ” (ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก - ที.ม.10/377/251,ม.มู.
12/110/79, ขุ.ขุ.25/3/2 และดุจคำว่า “กยิรา มาลาคุเณ พหู” (ช่างดอกไม้พึงร้อยพวงมาลัยไว้เป็น
จำนวนมาก - ขุ.ธ.25/53/26 (องฺ.ฉกฺก.อ.3/63/148)
2 สังกัปปราคะ หมายถึงความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจความดำริในวัตถุมีรูปที่งดงามเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ.
3/63/148, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/63/70) สังกัปปราคะ นี้เป็นชื่อเรียกกิเลสกามอีกชื่อหนึ่งในจำนวนชื่อเรียก
กาม 18 ชื่อ ดู ขุ.ชา.27/39/188, ขุ.ม. (แปล) 29/1/2, ขุ.จู. (แปล) 30/8/66-67
3 สํ.สํ. 15/34/26, อภิ.ก. 37/513/311

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :572 }