เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 9. นิพเพธิกสูตร
9. นิพเพธิกสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยาย1ชำแรกกิเลส
[63] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายเป็นเหตุชำแรกกิเลสแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนั้น อะไรบ้าง คือ
1. เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม
2. เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่ง
เวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งเวทนา
3. เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างกันแห่ง
สัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา
4. เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความต่างกันแห่ง
อาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ
5. เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างกันแห่ง
กรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งกรรม
6. เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างกันแห่ง
ทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
แห่งทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิด
แห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้
ถึงความดับแห่งกาม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
1 บรรยาย แปลจาก ปริยาย ศัพท์ มีความหมาย 3 นัย คือ (1) หมายถึงเทศนา - ดู ม.มู. 12/205/175
(2) หมายถึงวาระ - ดู ม.อุ. 14/398/344 (3) หมายถึงเหตุ - ดู วิ.มหา. (แปล) 1/164/136 (วิ.อ.
1/3/126)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :571 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 9. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า กามคุณ 5 ประการนี้ คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
3. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
4. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
5. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เรียกว่ากาม สิ่งเหล่านี้ เรียกว่ากามคุณ1
ในอริยวินัย
[พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า]
สังกัปปราคะ2ของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากาม
สังกัปปราคะของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลก
ตั้งอยู่ตามสภาพของตนเท่านั้น
แต่ธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจ
ในอารมณ์ที่วิจิตรเหล่านั้นได้3

เชิงอรรถ :
1 กามคุณ แยกอธิบายว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่บุคคลพึงใคร่ ที่ชื่อว่า คุณ เพราะมี
ความหมายว่า ผูกพันไว้ ร้อยรัดไว้ ดุจคำว่า “อนฺตํ อนฺตคุณํ” (ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก - ที.ม.10/377/251,ม.มู.
12/110/79, ขุ.ขุ.25/3/2 และดุจคำว่า “กยิรา มาลาคุเณ พหู” (ช่างดอกไม้พึงร้อยพวงมาลัยไว้เป็น
จำนวนมาก - ขุ.ธ.25/53/26 (องฺ.ฉกฺก.อ.3/63/148)
2 สังกัปปราคะ หมายถึงความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจความดำริในวัตถุมีรูปที่งดงามเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ.
3/63/148, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/63/70) สังกัปปราคะ นี้เป็นชื่อเรียกกิเลสกามอีกชื่อหนึ่งในจำนวนชื่อเรียก
กาม 18 ชื่อ ดู ขุ.ชา.27/39/188, ขุ.ม. (แปล) 29/1/2, ขุ.จู. (แปล) 30/8/66-67
3 สํ.สํ. 15/34/26, อภิ.ก. 37/513/311

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :572 }