เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 8. ปุริสินทริยญาณสูตร
กุศลมูลนั้น กุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อม
ต่อไปเป็นธรรมดาด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก
ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดแผดเผา ที่คัดพันธุ์ไว้1 เก็บไว้อย่างดี ซึ่งบุคคล
ปลูกไว้ในที่ดินอันพรวนดีแล้วในนาดี เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืช
เหล่านี้จักเจริญงอกงามไพบูลย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แล มีอยู่’
สมัยต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้แล
หายไป อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
กุศลมูลนั้น กุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ด้วยประการฉะนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึง
รู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้นต่อไป อย่างนี้แล
2. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป
กุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
อกุศลมูลนั้น อกุศลมูลของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อม***
ต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่
ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลมและแดดแผดเผา ที่คัดพันธุ์ไว้ เก็บไว้อย่างดี
ซึ่งบุคคลปลูกไว้บนศิลาแท่งทึบ เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืชเหล่านี้
จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์”

เชิงอรรถ :

1 คัดพันธุ์ไว้ หมายถึงพืชที่เขาเก็บเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงพืชที่เกิดในเดือนสารทะ
คือ ฤดูใบไม้ร่วง (สาราทานีติ สรทมาเส วา นิพฺพตฺตานิ) (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/62/148, องฺ.ฉกฺก. ฏีกา
3/62/165-166)

*** ตรวจสอบกับฉบับจริงที่เป็นเล่มหนังสือแล้ว ข้อความส่วนนี้ในเว็บธัมมโชติตรงกับฉบับมหาจุฬาฯ (ปกสีฟ้า) ที่เป็นหนังสือทุกตัวอักษร

แต่ในฉบับมหามกุฏฯ (ปกสีน้ำตาล) เป็น "จักเป็นผู้เสื่อม" ซึ่งต่างจากฉบับของมหาจุฬาฯ ที่เป็น "จักเป็นผู้ไม่เสื่อม"

ถ้าจะวิเคราะห์ว่าข้อความในฉบับไหนน่าจะเหมาะสมกว่ากัน ถ้าดูในส่วนเปรียบเทียบตอนท้ายที่ว่า "เมล็ดพืชเหล่านี้ จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์" ก็จะเห็นว่าความหมายตรงกับ "จักเป็นผู้เสื่อม" ในฉบับมหามกุฏฯ

และถ้าดูในตอนท้ายของข้อเดียวกันในหน้าถัดไปของฉบับมหาจุฬาฯ เอง ที่ว่า "แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะอกุศลมูลนั้น อกุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา" ก็จะเห็นชัดเจนว่าข้อความที่ถูกต้องควรเป็น "จักเป็นผู้เสื่อม" ตามฉบับของมหามกุฎฯ - หมายเหตุโดยธัมมโชติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :566 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 8. ปุริสินทริยญาณสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่” สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้แลหาย
ไปแล้ว กุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
อกุศลมูลนั้น อกุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ด้วยประการอย่างนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจ
จึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัย
กันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล
3. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ธรรมขาวแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลาย
ขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำ
อย่างเดียว หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’
เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลมและแดดแผดเผา ซึ่งบุคคล
ปลูกไว้ในดินซึ่งพรวนดีแล้วในนาดี เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืช
เหล่านี้จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ธรรมขาวแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำอย่างเดียว
หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึง
รู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล
กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถที่จะบัญญัติบุคคลอีก 3 จำพวกที่มีส่วน
เหมือนกับบุคคล 3 จำพวกนี้หรือหนอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :567 }