เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 7. มัชเฌสูตร
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณ1
อยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดนาม รูป และ
วิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้
ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย อายตนะภายใน 6 เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก 6
เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะ
ตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 และวิญญาณนั้นไว้
เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย สักกายะ2เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดสักกายะเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ความดับสักกายะอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิด
ขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”

เชิงอรรถ :
1 วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ ที่ชื่อว่าอยู่ท่ามกลางระหว่างนามกับรูปนั้น เพราะวิญญาณเป็น
ตัวก่อปัจจัยให้เกิดรูปกับนาม (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/61/147)
2 สักกายะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ 3 คือ กิเลส กรรม วิบาก ที่เกี่ยวข้องในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ หรือ
หมายถึงอุปาทานขันธ์ (ดูรายละเอียดในเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 14 หน้า 433)
เหตุเกิดสักกายะ หมายถึงสมุทัยสัจ ได้แก่ ตัณหา
ความดับสักกายะ หมายถึงนิโรธสัจ ได้แก่ นิพพาน (ที.ปา.อ. 305/186, องฺ.ฉกฺก.อ. 3/61/147)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :562 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 7. มัชเฌสูตร
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราเที่ยวพยากรณ์ตามปฏิภาณของตน มาเถิด พวกเรา
จักพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนี้ให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเรา พวกเราก็จักทรงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงพยากรณ์นั้น
ภิกษุเถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุเถระทั้งหลายได้
พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลคำสนทนาทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คำของใครหนอกล่าวได้ไพเราะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหมดกล่าวดีแล้วตามเหตุนั้น ๆ
แต่ข้อความที่เรามุ่งกล่าวไว้ในติสสเมตเตยยปัญหานิทเทส ปารายนวรรคว่า
ผู้ใดรู้ชัดซึ่งส่วนสุดทั้ง 2 ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ความดับผัสสะอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดผัสสะ และเหตุเกิดผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
มัชเฌสูตรที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :563 }