เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 6. หัตถิสารีปุตตสูตร
“ท่านพระมหาโกฏฐิกะกำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘บุรุษชื่อจิตต-
หัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์’ หรือเทวดาทั้งหลายแจ้งเนื้อความนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุรุษชื่อว่า
จิตตหัตถิสารีบุตร เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ท่านพระมหาโกฏฐิกะกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กำหนดรู้ใจบุรุษ
ชื่อว่าจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้พากันเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ
และได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร
จักระลึกถึงคุณแห่งเนกขัมมะได้”
ต่อมา ไม่นานนัก จิตตหัตถิสารีบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
ไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท1 มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก
ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม2อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ไม่ประมาท ในที่นี้หมายถึงไม่ละสติในกัมมัฏฐาน (ม.ม.อ. 2/82/80)
2 ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
2/5/7, ม.มู.อ. 2/82/80)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :559 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 7. มัชเฌสูตร
ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
หัตถิสารีปุตตสูตรที่ 6 จบ
7. มัชเฌสูตร
ว่าด้วยส่วนท่ามกลาง
[61] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี สมัยนั้นแล เมื่อภิกษุเถระจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน
อาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงฉัน ได้สนทนากันขึ้นในระหว่างว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในติสสเมตเตยยปัญหานิทเทส1ปารายนวรรคว่า
ผู้ใดรู้ชัดซึ่งส่วนสุดทั้ง 2 ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา2
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัด3ในโลกนี้ได้
เมื่อภิกษุทั้งหลายถามกันอย่างนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ส่วนสุดด้านหนึ่ง คือ
อะไร ส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง คืออะไร ท่ามกลาง คืออะไร เครื่องร้อยรัด คืออะไร”

เชิงอรรถ :
1 ดู ขุ.สุ. 25/1047/532,1049/533, ขุ.จู. (แปล) 30/9/73,11/79
2 มันตา หมายถึงปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความไม่หลงงมงาย (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/61/145) และดู
ขุ.จู. (แปล) 30/9/73,11/79 ประกอบ
3 เครื่องร้อยรัด ในที่นี้หมายถึงตัณหา (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/61/145) และดู ขุ.จู. (แปล) 30/11/82 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :560 }