เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 6. หัตถิสารีปุตตสูตร
“ท่านพระมหาโกฏฐิกะกำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘บุรุษชื่อจิตต-
หัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์’ หรือเทวดาทั้งหลายแจ้งเนื้อความนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุรุษชื่อว่า
จิตตหัตถิสารีบุตร เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ท่านพระมหาโกฏฐิกะกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กำหนดรู้ใจบุรุษ
ชื่อว่าจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้พากันเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ
และได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร
จักระลึกถึงคุณแห่งเนกขัมมะได้”
ต่อมา ไม่นานนัก จิตตหัตถิสารีบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
ไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท1 มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก
ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม2อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ไม่ประมาท ในที่นี้หมายถึงไม่ละสติในกัมมัฏฐาน (ม.ม.อ. 2/82/80)
2 ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
2/5/7, ม.มู.อ. 2/82/80)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :559 }