เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 4. อาสวสูตร
เป็นผู้อดกลั้นต่อคำหยาบ คำส่อเสียด ต่อเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายเป็นทุกข์
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่
อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะ
และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่ว ที่เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็น
บาปเสีย ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึง
เกิดขึ้น เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้น
ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อม
ไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :550 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 4. อาสวสูตร
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่อาศัย
วิเวก1 อาศัยวิราคะ (ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ (ความดับ) น้อมไปในการสละ
พิจารณาโดยแยบคายแล้วเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญสมาธิ-
สัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อเธอไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มี
แก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 6 ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก
อาสวสูตรที่ 4 จบ


เชิงอรรถ :
1 วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก (ความสงัด) 5 ประการ คือ (1) วิกขัมภนวิเวก (สงัดด้วยการข่มไว้ คือการสงัด
จากกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น) (2) ตทังควิเวก (สงัด
ด้วยองค์นั้น ๆ คือ สงัดจากกิเลสด้วยธรรมที่เป้นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงกันข้าม เช่น สงัดจากสักกายทิฏฐิ
ด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการสงัดชั่วคราวในกรณีนั้น ๆ) (3) สมุจเฉทวิเวก (สงัดด้วย
การตัดขาดคือสงัดจากกิเลสได้เด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ๆ) (4) ปัสสัทธิวิเวก (สงัด
ด้วยการสงบระงับ คืออาศัยโลกุตตรมรรค สงัดจากกิเลสได้เด็ดขาดบรรลุโลุกตตรผล กิเลสเป็นอันสงบ
ระงับไปหมดแล้วไม่ต้องขวนขวายเพื่อสงัดอีกในขณะแห่งผลนั้น ๆ) (5) นิสสรณวิเวก (สงัดด้วยการสลัด
ออกได้ คือสงัดจากกิเลสได้หมดสิ้น ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสสงัดแล้วยั่งยืนตลอดไป) ได้แก่ อมตธาตุคือ
นิพพาน (องฺ.ทุก.อ. 2/12/10)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :551 }