เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 3. ฉฬภิชาติสูตร
ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ 5 ในการฟังธรรมตามกาล
6. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5
ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นทั้งตถาคต
ทั้งไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต แต่เธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตาม
ด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอ
ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมา จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่ง
อุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 6 ในการพิจารณา
เนื้อความตามกาล
อานนท์ การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ 6 ประการนี้แล
ผัคคุณสูตรที่ 2 จบ
3. ฉฬภิชาติสูตร
ว่าด้วยอภิชาติ1 6 จำพวก
[57] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ 6 จำพวก คือ
1. บัญญัติกัณหาภิชาติ (ชาติดำ)
2. บัญญัตินีลาภิชาติ (ชาติเขียว)
3. บัญญัติโลหิตาภิชาติ (ชาติแดง)

เชิงอรรถ :
1 อภิชาติ ในที่นี้หมายถึงการกำหนดหมายชนเป็นชั้น เป็นกลุ่ม เช่นหมู่คนที่ประพฤติอย่างนี้ ๆ กำหนดเรียก
อย่างนี้ ๆ (ที.สี.อ. 168/147) หรือหมายถึงชาติกำเนิด (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/57/139, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/57/
150) และดู ที.สี. (แปล) 9/168/55

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :543 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 3. ฉฬภิชาติสูตร
4. บัญญัติหลิททาภิชาติ (ชาติเหลือง)
5. บัญญัติสุกกาภิชาติ (ชาติขาว)
6. บัญญัติปรมสุกกาภิชาติ (ชาติขาวยิ่ง)
ปูรณะ กัสสปะบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร พรานนก พรานเนื้อ ชาวประมง
โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือคนทำงานที่โหดร้ายอื่น ๆ ว่าเป็นกัณหาภิชาติ
บัญญัติพวกภิกษุผู้โน้มเอียงไปในฝ่ายดำ หรือพวกกัมมวาทะ กิริยวาทะอื่น ๆ
ว่าเป็นนีลาภิชาติ
บัญญัตินิครนถ์ผู้ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นโลหิตาภิชาติ
บัญญัติคฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว หรือสาวกของอเจลก1ว่าเป็นหลิททาภิชาติ
บัญญัติอาชีวกหรืออาชีวิกาว่าเป็นสุกกาภิชาติ
บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อว่า นันทวัจฉโคตร เจ้าลัทธิชื่อกิสสังกิจจโคตร เจ้าลัทธิ
ชื่อมักขลิโคสาลว่าเป็นปรมสุกกาภิชาติ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ 6 ประการนี้ไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ การที่ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ 6
ประการนี้ไว้ ชาวโลกทั้งปวงเห็นคล้อยตามด้วยหรือ”
พระอานนท์กราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ คนทั้งหลายบังคับบุรุษยากจน ขัดสน
เข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนาส่วนเนื้อว่า ‘แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านพึงกินเนื้อนี้ และต้องให้
ค่าเนื้อ’ ฉันใด ปูรณะ กัสสปะก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติอภิชาติ 6 ประการนี้
สำหรับสมณพราหมณ์เหล่านั้นไว้ โดยที่ชาวโลกทั้งปวงก็ไม่ยอมรับ เหมือนคนพาล
ไม่เฉียบแหลม ไม่รู้หลักการบัญญัติ ไม่ฉลาด
อานนท์ เราก็บัญญัติอภิชาติ 6 ประการไว้ ขอเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”

เชิงอรรถ :
1 สาวกของอเจลก หมายถึงสาวกของอาชีวก (นักบวชเปลือย) ซึ่งถือตัวว่าตนมีจิตขาวสะอาดบริสุทธิ์กว่า
พวกนิครนถ์และยกย่องผู้ที่ให้ปัจจัยแก่ตนว่าประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์เช่นกัน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/57/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :544 }