เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ทาง
ที่ดี เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วพยากรณ์อรหัตตผลในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเถิด” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไป1ในฐานะ 6 ประการ2 คือ
1. น้อมไปในเนกขัมมะ
2. น้อมไปในปวิเวก
3. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
4. น้อมไปในความสิ้นตัณหา
5. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
6. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้อาศัยคุณเพียง
ศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างนั้น
เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตน
ยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว3 ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโทสะ เพราะ
ปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า น้อมไป แปลจากบาลีว่า ‘อธิมุตฺโต’ หมายถึง ‘ปฏิวิชฺฌิตฺวา ปจฺจกฺขํ กตฺวา _โต’ แปลว่า “แทงตลอด
แล้ว ทำให้ประจักษ์ชัดแล้ว ดำรงอยู่” (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/55/137)
2 ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ 6 ประการเป็นคำใช้แทนอรหัตตผล ที่มีชื่อเรียกว่า เนกขัมมะ เพราะออกไป
จากกิเลสทั้งปวงได้ ที่มีชื่อเรียกว่า ปวิเวก เพราะสงัดจากกิเลสทั้งหลาย ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่เบียด
เบียนกัน (อัพยาบาท) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะ
เกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสิ้นตัณหา ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้น
ในที่สุดแห่งการสิ้นอุปาทาน ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะปราศจากความลุ่มหลง
(องฺ.ฉกฺก.อ. 3/55/137)
3 หมายถึงไม่เห็นว่าจะต้องทำกิจ 4 อย่าง มีปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) เป็นต้น (ดูรายละเอียดในเชิง
อรรถข้อ 56 หน้า 98) และไม่เห็นว่าจะต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อนอีก (องฺ.ฉกฺก.อ.
3/55/137, ขุ.เถร.อ. 644/262)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :536 }