เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน1 และจง
ถือเอานิมิต2ในความเสมอกันนั้น”
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะมาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำ3เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป4” ท่านพระโสณะ
ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 คำว่า อินทรีย์ ในคำว่า ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน นั้น หมายถึงอินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ
และปัญญา ที่พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานต้องปรับให้เสมอกัน กล่าวคือ (1) ปรับศรัทธากับปัญญาให้
เสมอกัน เพราะถ้าศรัทธามากกว่าปัญญาบุคคลก็จะเลื่อมใสจนเกินไป หรือเลื่อมใสในเหตุที่ไม่น่าเลื่อมใส
ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธา บุคคลก็จะหนักไปข้างอวดดีเป็นเหมือนโรคดื้อยารักษาให้หายยาก ถ้าธรรมทั้งสอง
เสมอกัน บุคคลจะเลื่อมใสในเหตุที่น่าเลื่อมใส (2) ปรับสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน เพราะถ้าสมาธิมากกว่า
วิริยะ ความเกียจคร้านจะครอบงำ เนื่องจากสมาธิเป็นฝ่ายเดียวกันกับความเกียจคร้าน ถ้าวิริยะมากกว่า
สมาธิ ความฟุ้งซ่านจะครอบงำ เนื่องจากวิริยะเป็นฝ่ายเดียวกันกับความกันฟุ้งซ่าน ดังนั้น สมาธิที่ประกอบ
ควบคู่กับวิริยะ จิตจะไม่ตกไปในฝ่ายความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบควบคู่กับสมาธิ จิตจะไม่ตกไป
ในฝ่ายความฟุ้งซ่าน
แต่สำหรับ สติ นั้น พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานควรบำเพ็ญให้มีพลังทุกที่ทุกเวลา ดุจเกลือ จำต้องมีใน
กับข้าวทุกอย่าง ดุจอำมาตย์ผู้ชำนาญการ จำต้องปรารถนาในราชการทุกอย่าง (เทียบ วิ.อ. 3/243/164,
องฺ. ฉกฺก.อ. 3/55/136, วิสุทธิ. 1/62/140-141, สารตฺถ.ฏีกา 3/243/353)
2 ถือเอานิมิต ในที่นี้หมายถึงเพิ่มพูนให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/
55/136, สารัตถ.ฏีกา 3/243/353)
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 ปัญจกนิบาต ข้อ 56 (อุปัชฌายสูตร) หน้า 98 ในเล่มนี้
4 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณเพื่อความสิ้น
กิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. 243/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :535 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ทาง
ที่ดี เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วพยากรณ์อรหัตตผลในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเถิด” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไป1ในฐานะ 6 ประการ2 คือ
1. น้อมไปในเนกขัมมะ
2. น้อมไปในปวิเวก
3. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
4. น้อมไปในความสิ้นตัณหา
5. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
6. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้อาศัยคุณเพียง
ศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างนั้น
เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตน
ยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว3 ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโทสะ เพราะ
ปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า น้อมไป แปลจากบาลีว่า ‘อธิมุตฺโต’ หมายถึง ‘ปฏิวิชฺฌิตฺวา ปจฺจกฺขํ กตฺวา _โต’ แปลว่า “แทงตลอด
แล้ว ทำให้ประจักษ์ชัดแล้ว ดำรงอยู่” (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/55/137)
2 ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ 6 ประการเป็นคำใช้แทนอรหัตตผล ที่มีชื่อเรียกว่า เนกขัมมะ เพราะออกไป
จากกิเลสทั้งปวงได้ ที่มีชื่อเรียกว่า ปวิเวก เพราะสงัดจากกิเลสทั้งหลาย ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่เบียด
เบียนกัน (อัพยาบาท) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะ
เกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสิ้นตัณหา ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้น
ในที่สุดแห่งการสิ้นอุปาทาน ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะปราศจากความลุ่มหลง
(องฺ.ฉกฺก.อ. 3/55/137)
3 หมายถึงไม่เห็นว่าจะต้องทำกิจ 4 อย่าง มีปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) เป็นต้น (ดูรายละเอียดในเชิง
อรรถข้อ 56 หน้า 98) และไม่เห็นว่าจะต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อนอีก (องฺ.ฉกฺก.อ.
3/55/137, ขุ.เถร.อ. 644/262)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :536 }