เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน1 และจง
ถือเอานิมิต2ในความเสมอกันนั้น”
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะมาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำ3เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป4” ท่านพระโสณะ
ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 คำว่า อินทรีย์ ในคำว่า ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน นั้น หมายถึงอินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ
และปัญญา ที่พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานต้องปรับให้เสมอกัน กล่าวคือ (1) ปรับศรัทธากับปัญญาให้
เสมอกัน เพราะถ้าศรัทธามากกว่าปัญญาบุคคลก็จะเลื่อมใสจนเกินไป หรือเลื่อมใสในเหตุที่ไม่น่าเลื่อมใส
ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธา บุคคลก็จะหนักไปข้างอวดดีเป็นเหมือนโรคดื้อยารักษาให้หายยาก ถ้าธรรมทั้งสอง
เสมอกัน บุคคลจะเลื่อมใสในเหตุที่น่าเลื่อมใส (2) ปรับสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน เพราะถ้าสมาธิมากกว่า
วิริยะ ความเกียจคร้านจะครอบงำ เนื่องจากสมาธิเป็นฝ่ายเดียวกันกับความเกียจคร้าน ถ้าวิริยะมากกว่า
สมาธิ ความฟุ้งซ่านจะครอบงำ เนื่องจากวิริยะเป็นฝ่ายเดียวกันกับความกันฟุ้งซ่าน ดังนั้น สมาธิที่ประกอบ
ควบคู่กับวิริยะ จิตจะไม่ตกไปในฝ่ายความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบควบคู่กับสมาธิ จิตจะไม่ตกไป
ในฝ่ายความฟุ้งซ่าน
แต่สำหรับ สติ นั้น พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานควรบำเพ็ญให้มีพลังทุกที่ทุกเวลา ดุจเกลือ จำต้องมีใน
กับข้าวทุกอย่าง ดุจอำมาตย์ผู้ชำนาญการ จำต้องปรารถนาในราชการทุกอย่าง (เทียบ วิ.อ. 3/243/164,
องฺ. ฉกฺก.อ. 3/55/136, วิสุทธิ. 1/62/140-141, สารตฺถ.ฏีกา 3/243/353)
2 ถือเอานิมิต ในที่นี้หมายถึงเพิ่มพูนให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/
55/136, สารัตถ.ฏีกา 3/243/353)
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 ปัญจกนิบาต ข้อ 56 (อุปัชฌายสูตร) หน้า 98 ในเล่มนี้
4 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณเพื่อความสิ้น
กิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. 243/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :535 }