เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
แม้ท่านพระโสณะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสกับท่านพระโสณะดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด มีความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า ‘ในบรรดา
พระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิต
ของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูล
ของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้
การได้หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :534 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน1 และจง
ถือเอานิมิต2ในความเสมอกันนั้น”
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะมาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำ3เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป4” ท่านพระโสณะ
ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 คำว่า อินทรีย์ ในคำว่า ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน นั้น หมายถึงอินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ
และปัญญา ที่พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานต้องปรับให้เสมอกัน กล่าวคือ (1) ปรับศรัทธากับปัญญาให้
เสมอกัน เพราะถ้าศรัทธามากกว่าปัญญาบุคคลก็จะเลื่อมใสจนเกินไป หรือเลื่อมใสในเหตุที่ไม่น่าเลื่อมใส
ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธา บุคคลก็จะหนักไปข้างอวดดีเป็นเหมือนโรคดื้อยารักษาให้หายยาก ถ้าธรรมทั้งสอง
เสมอกัน บุคคลจะเลื่อมใสในเหตุที่น่าเลื่อมใส (2) ปรับสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน เพราะถ้าสมาธิมากกว่า
วิริยะ ความเกียจคร้านจะครอบงำ เนื่องจากสมาธิเป็นฝ่ายเดียวกันกับความเกียจคร้าน ถ้าวิริยะมากกว่า
สมาธิ ความฟุ้งซ่านจะครอบงำ เนื่องจากวิริยะเป็นฝ่ายเดียวกันกับความกันฟุ้งซ่าน ดังนั้น สมาธิที่ประกอบ
ควบคู่กับวิริยะ จิตจะไม่ตกไปในฝ่ายความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบควบคู่กับสมาธิ จิตจะไม่ตกไป
ในฝ่ายความฟุ้งซ่าน
แต่สำหรับ สติ นั้น พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานควรบำเพ็ญให้มีพลังทุกที่ทุกเวลา ดุจเกลือ จำต้องมีใน
กับข้าวทุกอย่าง ดุจอำมาตย์ผู้ชำนาญการ จำต้องปรารถนาในราชการทุกอย่าง (เทียบ วิ.อ. 3/243/164,
องฺ. ฉกฺก.อ. 3/55/136, วิสุทธิ. 1/62/140-141, สารตฺถ.ฏีกา 3/243/353)
2 ถือเอานิมิต ในที่นี้หมายถึงเพิ่มพูนให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/
55/136, สารัตถ.ฏีกา 3/243/353)
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 ปัญจกนิบาต ข้อ 56 (อุปัชฌายสูตร) หน้า 98 ในเล่มนี้
4 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณเพื่อความสิ้น
กิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. 243/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :535 }