เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
2. ทุติยปัณณาสก์
6. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
1. โสณสูตร
ว่าด้วยพระโสณะ
[55] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ท่านพระโสณะอยู่ที่ป่าสีตวัน เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระโสณะ
หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดเกิดความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า “ในบรรดาพระสาวกของพระผู้มี
พระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้น
จากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้
สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
ใช้สอยทรัพย์สมบัติ และบำเพ็ญบุญ1”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ
ท่านพระโสณะ จึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้2

เชิงอรรถ :
1 ท่านพระโสณะปรารภความเพียรหนักเกินไปโดยเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก และเมื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีคลาน
จงกรม เข่าและฝ่ามือก็แตกเป็นแผลอีก จึงมีจิตฟุ้งซ่านท้อแท้ว่า “ถ้าเราเป็นบุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญู
(ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน) วิปจิตัญญู (ผู้รู้เมื่อขยายความ) เนยยะ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้) จิตของเราพึงหลุดพ้น
จากกิเลสได้เป็นแน่ แต่เราคงเป็นบุคคลประเภทปทปรมะ (ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง) จิตของเราจึงไม่หลุดพ้น”
(องฺ.ฉกฺก.อ. 3/55/135) และดู วิ.ม. 5/243/4
2 พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ หมายถึงตั่ง เตียง แผ่นกระดาน แผ่นหิน หรือกองทรายที่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรปูลาด
ไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคที่จะเสด็จมาให้โอวาท แก้อารมณ์กัมมัฏฐานถึงที่อยู่ของตน ถ้าหา
อาสนะนั้นไม่ได้ จะใช้ใบไม้เก่า ๆ ปูลาดก็ได้ โดยลาดสังฆาฏิไว้บน นี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับภิกษุ
นักปฏิบัติ ในที่นี้จึงหมายถึงพุทธอาสน์นั้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/55/135,อ.ฉกฺก.ฏีกา 3/55/147)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :533 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 6. มหาวรรค 1. โสณสูตร
แม้ท่านพระโสณะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสกับท่านพระโสณะดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด มีความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า ‘ในบรรดา
พระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิต
ของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูล
ของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้
การได้หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :534 }