เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
เขาได้สุขที่ไม่อิงอามิส1
อุเบกขา2ตั้งมั่น ละนิวรณ์ 5 ประการได้
ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
บรรลุฌานทั้งหลายมีเอกัคคตาจิตปรากฏ
มีปัญญารักษาตน มีสติ รู้ชัดเหตุนั้นตามความเป็นจริง
ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง3
จิตย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะไม่ถือมั่นโดยสิ้นเชิง
หากว่าเขามีจิตหลุดพ้นโดยชอบ
เป็นผู้คงที่ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งภวสังโยชน์
มีญาณหยั่งรู้ว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ4’
ญาณนั่นแลป็นญาณชั้นเยี่ยม
ญาณนั่นแลเป็นสุขอันยอดเยี่ยม
ญาณนั้นไม่มีความโศก ปราศจากธุลี
มีความเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้
อิณสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 สุขที่ไม่อิงอามิส หมายถึงสุขในปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127)
2 อุเบกขา ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาในจตุตถฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127)
3 ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง หมายถึงพระนิพพาน สังโยชน์ทั้งปวง ได้แก่ (1) กามราคะ
(ความกำหนัดในกาม) (2) ปฏิฆะ(ความขัดใจ) (3) มานะ(ความถือตัว) (4) ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) (5) วิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) (6) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลพรต) (7) ภวราคะ(ความติดใจปรารถนาในภพ)
(8) อิสสา(ความริษยา) (9) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) (10) อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง) (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/45-48/141)
4 หมายถึงมีปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ว่ามัคควิมุตติ หรือผลวิมุตติไม่กำเริบ เพราะไม่มีกิเลสที่ก่อความกำเริบ
คือราคะเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/45-48/141)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :511 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 4. มหาจุนทสูตร
4. มหาจุนทสูตร
ว่าด้วยพระมหาจุนทะ1
[46] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ ณ นิคมชื่อว่าสัญชาติ ในแคว้นเจตี สมัย
นั้นแล ท่านพระมหาจุนทะเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาจุนทะจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ในพระธรรมวินัยนี้ พวกภิกษุผู้ประกอบธรรม2รุกรานพวก
ภิกษุผู้เพ่งฌานว่า “ภิกษุเหล่านี้ เพ่ง พินิจ ยึด หน่วงฌานอยู่ว่า ‘พวกเราเป็น
ผู้เพ่งฌาน พวกเราเป็นผู้เพ่งฌาน’ ภิกษุเหล่านี้เพ่งฌานทำไม เพ่งฌานเพื่ออะไร
เพ่งฌานเพราะเหตุไร”
พวกภิกษุผู้ประกอบธรรม ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้เพ่งฌานนั้น และพวกภิกษุ
ผู้เพ่งฌานก็ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้เพ่งฌานรุกรานพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมว่า
“ภิกษุเหล่านี้คิดว่า ‘พวกเราเป็นผู้ประกอบธรรม พวกเราเป็นผู้ประกอบธรรม’ เป็น
ผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิต
ไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ ภิกษุเหล่านี้ประกอบธรรมทำไม
ประกอบธรรมเพื่ออะไร ประกอบธรรมเพราะเหตุไร”
พวกภิกษุผู้เพ่งฌานไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมนั้น และพวกภิกษุ
ผู้ประกอบธรรมก็ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้เพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คน


เชิงอรรถ :
1 หมายถึงพระมหาจุนทะผู้เป็นน้องชายของพระธรรมเสนาบดี (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/46/128)
2 ภิกษุผู้ประกอบธรรม ในที่นี้หมายถึงพระธรรมกถึก (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/46/128)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :512 }