เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม
ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
ปรารถนาว่า ‘ชนทั้งหลายอย่ารู้จักเรา’
ผู้นั้นย่อมดิ้นรนพอกพูนบาปกรรม
ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในที่นั้นๆ บ่อยๆ
เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม
รู้การทำชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน
กู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน
ลำดับนั้น ความดำริเกิดแต่วิปปฏิสารก่อทุกข์ทางใจ
ย่อมติตตามเขาทั้งในบ้านหรือในป่า
เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม รู้การทำชั่วของตนอยู่
ย่อมไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานหรือถูกจองจำในนรก
ส่วนนักปราชญ์ผู้ทำจิตให้เลื่อมใส
ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาโดยชอบธรรม
ย่อมพ้นจากการจองจำที่เป็นทุกข์นั้น
เขาเป็นผู้ถือชัยชนะในประโยชน์ทั้งสอง
ของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน
คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
บุญคือการบริจาคของคฤหัสถ์นั้น ย่อมเพิ่มพูน
อนึ่ง ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในอริยวินัย
มีจิตประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ
มีปัญญา และสำรวมในศีล
เราเรียกผู้นั้นแลว่า ‘ผู้มีชีวิตเป็นสุขในอริยวินัย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :510 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
เขาได้สุขที่ไม่อิงอามิส1
อุเบกขา2ตั้งมั่น ละนิวรณ์ 5 ประการได้
ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
บรรลุฌานทั้งหลายมีเอกัคคตาจิตปรากฏ
มีปัญญารักษาตน มีสติ รู้ชัดเหตุนั้นตามความเป็นจริง
ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง3
จิตย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะไม่ถือมั่นโดยสิ้นเชิง
หากว่าเขามีจิตหลุดพ้นโดยชอบ
เป็นผู้คงที่ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งภวสังโยชน์
มีญาณหยั่งรู้ว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ4’
ญาณนั่นแลป็นญาณชั้นเยี่ยม
ญาณนั่นแลเป็นสุขอันยอดเยี่ยม
ญาณนั้นไม่มีความโศก ปราศจากธุลี
มีความเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้
อิณสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 สุขที่ไม่อิงอามิส หมายถึงสุขในปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127)
2 อุเบกขา ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาในจตุตถฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127)
3 ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง หมายถึงพระนิพพาน สังโยชน์ทั้งปวง ได้แก่ (1) กามราคะ
(ความกำหนัดในกาม) (2) ปฏิฆะ(ความขัดใจ) (3) มานะ(ความถือตัว) (4) ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) (5) วิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) (6) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลพรต) (7) ภวราคะ(ความติดใจปรารถนาในภพ)
(8) อิสสา(ความริษยา) (9) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) (10) อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง) (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/45-48/141)
4 หมายถึงมีปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ว่ามัคควิมุตติ หรือผลวิมุตติไม่กำเริบ เพราะไม่มีกิเลสที่ก่อความกำเริบ
คือราคะเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/45/127,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/45-48/141)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :511 }