เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
เพราะการปกปิดมโนทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาชั่วว่า ‘ขอชนเหล่า
อื่นอย่ารู้เราเลย’ ดำริว่า “ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ พูดว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้
เราเลย’ พยายามด้วยกายว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’
เรากล่าวว่าการปกปิดทุจริตเป็นเหตุนั้น เป็นการใช้ดอกเบี้ย
เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รักได้กล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุนี้เป็นผู้
ทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้’
เรากล่าวว่าการถูกว่ากล่าวเช่นนี้ของเขา เป็นการทวงหนี้
บาปอกุศลวิตกที่ประกอบด้วยวิปปฏิสาร(ความร้อนใจ) ย่อมครอบงำบุคคล
นั้นผู้ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง
เรากล่าวว่าการถูกบาปอกุศลวิตกครอบงำเช่นนี้ของเขา เป็นการถูกติดตาม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นนั่นแล เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นประพฤติ
กายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต และประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้วย่อมถูก
จองจำในเรือนจำคือนรก หรือในเรือนจำคือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเรือนจำอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ร้ายกาจอย่างนี้ เป็นทุกข์
อย่างนี้ และทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
อย่างนี้ เหมือนเรือนจำคือนรก หรือเรือนจำคือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย
ความยากจน และการกู้หนี้
เราเรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก
คนจนเมื่อกู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน
เพราะการไม่ใช้คืนนั้น พวกเจ้าหนี้จึงติดตามเขา
เขาย่อมเข้าถึงการถูกจองจำ
การถูกจองจำนั้นแลเป็นทุกข์ของหมู่ชนผู้ปรารถนากาม
ในอริยวินัย ก็เช่นเดียวกัน
ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :509 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม
ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
ปรารถนาว่า ‘ชนทั้งหลายอย่ารู้จักเรา’
ผู้นั้นย่อมดิ้นรนพอกพูนบาปกรรม
ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในที่นั้นๆ บ่อยๆ
เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม
รู้การทำชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน
กู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน
ลำดับนั้น ความดำริเกิดแต่วิปปฏิสารก่อทุกข์ทางใจ
ย่อมติตตามเขาทั้งในบ้านหรือในป่า
เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม รู้การทำชั่วของตนอยู่
ย่อมไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานหรือถูกจองจำในนรก
ส่วนนักปราชญ์ผู้ทำจิตให้เลื่อมใส
ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาโดยชอบธรรม
ย่อมพ้นจากการจองจำที่เป็นทุกข์นั้น
เขาเป็นผู้ถือชัยชนะในประโยชน์ทั้งสอง
ของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน
คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
บุญคือการบริจาคของคฤหัสถ์นั้น ย่อมเพิ่มพูน
อนึ่ง ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในอริยวินัย
มีจิตประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ
มีปัญญา และสำรวมในศีล
เราเรียกผู้นั้นแลว่า ‘ผู้มีชีวิตเป็นสุขในอริยวินัย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :510 }