เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
อานนท์ บุคคล 6 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
บุรุษชื่อว่าปุราณะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นใด บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะก็เป็นผู้
ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น บุรุษชื่อว่าปุราณะจะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะ
ในโลกนี้ ก็หามิได้ บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด บุรุษชื่อว่า
ปุราณะก็เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะจะได้รู้แม้คติของบุรุษ
ชื่อว่าปุราณะในโลกนี้ก็หามิได้
อานนท์ บุคคล 2 คนนี้แล เป็นผู้ต่ำกว่ากันด้วยองค์คุณคนละอย่าง อย่างนี้แล
มิคสาลาสูตรที่ 2 จบ
3. อิณสูตร
ว่าด้วยความเป็นหนี้
[45] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความยากจนเป็นทุกข์ของ
กามโภคีบุคคล1ในโลก”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้หนี้
แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นกู้หนี้แล้ว ย่อมใช้ดอกเบี้ย แม้การใช้
ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตาม
กำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การตามทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี-
บุคคลในโลก”

เชิงอรรถ :
1 กามโภคีบุคคล หมายถึงผู้บริโภคกามคุณ คือ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/15/293, องฺ.ฉกฺก.อ.
3/45/126)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :507 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 3. อิณสูตร
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง ยังไม่ให้ พวกเจ้าหนี้
ย่อมติดตาม แม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันให้
พวกเจ้าหนี้ย่อมจองจำเขา แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้ความยากจนก็เป็นทุกข์ของ
กามโภคีบุคคลในโลก แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การใช้
ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี-
บุคคลในโลก แม้การถูกติตตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกจอง
จำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก ด้วยประการฉะนี้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม
ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญา
ในกุศลธรรม บุคคลนี้เราก็เรียกว่า เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ในอริยวินัย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นนั่นแลผู้เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อไม่มีศรัทธาใน
กุศลธรรม เมื่อไม่มีหิริในกุศลธรรม เมื่อไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม เมื่อไม่มีวิริยะ
ในกุศลธรรม เมื่อไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติกายทุจริต ประพฤติ
วจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต
เรากล่าวว่าการประพฤติทุจริตเช่นนี้ของเขา เป็นการกู้หนี้
เพราะการปกปิดกายทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาอันชั่วว่า ‘ขอชน
เหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ ดำริว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ พูดว่า ‘ขอชนเหล่าอื่น
อย่ารู้เราเลย’ พยายามด้วยกายว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’
เพราะการปกปิดวจีทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาอันชั่ว ฯลฯ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :508 }