เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 2. มิคสาลาสูตร
บุคคลผู้ถือประมาณ1ย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ‘ธรรมแม้ของบุคคลนี้ก็คือ
ธรรมของอีกคนหนึ่งนั่นแล บรรดาบุคคล 2 คนนั้น เพราะเหตุไร คนหนึ่งจึงเลว
คนหนึ่งจึงดี’ แท้จริง การถือประมาณของผู้ถือประมาณเหล่านั้น เป็นไปเพื่อมิใช่
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
บรรดาบุคคล 2 คนนั้น บุคคลใดเป็นผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายย่อมยินดียิ่งด้วยการอยู่ร่วมกัน บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง
ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลาอันควร
บุคคลนี้ดีกว่า และประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนี้หยั่งลงสู่อริยภูมิ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้นอกจากตถาคต เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบถือประมาณในบุคคล และอย่าถือประมาณในบุคคล
เพราะบุคคลผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน ส่วนเราหรือผู้
เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้
3. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธและถือตัว และบางครั้งบางคราว
โลภธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นไม่ทำกิจด้วยการฟัง ไม่ทำ
กิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และไม่ได้วิมุตติ
ตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไป
ทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
4. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธและถือตัว และบางครั้งบางคราว
โลภธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง ทำกิจ
ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิและได้วิมุตติตามเวลา
อันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
บุคคลผู้ถือประมาณ ย่อมถือประมาณในข้อนั้นว่า ฯลฯ ส่วนเราหรือผู้เหมือน
เราพึงถือประมาณในบุคคลได้

เชิงอรรถ :
1 ถือประมาณ ในที่นี้หมายถึงเปรียบเทียบตัดสินหรือจัดคุณสมบัติ หรือคุณธรรมด้านเดียวกันระหว่างบุคคล
หนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่งว่า ใครมีคุณน้อย ใครมีคุณมากที่สุด (เทียบ องฺ.ฉกฺก.อ. 3/44/125, องฺ.ทสก.อ.
3/75/360)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :505 }