เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 1. นาคสูตร
เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี1ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนทั้งหลายเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์เท่านั้น
หรือ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’
หรือว่าเห็นสัตว์ชนิดอื่นที่ใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค
น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุทายี คนทั้งหลายเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง
มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค
น่าอัศจรรย์จริง’ บ้าง เห็นม้าตัวใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นโคตัวใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นงูตัวใหญ่
ยาว ฯลฯ เห็นต้นไม้ใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นมนุษย์ผู้มีร่างกายใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์
จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’ บ้าง
อุทายี แต่เราเรียกบุคคลผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในโลกนี้
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา
และมนุษย์นั้นว่า ‘นาค”
ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘อุทายี เราเรียกบุคคลผู้ไม่ทำความชั่ว
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ว่า ‘นาค”
ท่านพระอุทายีได้กราบทูลต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ขออนุโมทนาภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนี้ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
ข้าพระองค์ได้สดับมาจากพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ว่า
มนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นมนุษย์
ทรงฝึกพระองค์แล้ว2 มีพระทัยตั้งมั่นแล้ว
ผู้ทรงดำเนินไปในทางประเสริฐ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงพระกาฬุทายีเถระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/121)
2 ทรงฝึกพระองค์แล้ว หมายถึงทรงฝึกฝนพระองค์ในฐานะ 6 ประการ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย ทางใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :499 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 1. นาคสูตร
ผู้ทรงยินดีในความสงบแห่งจิต1
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง2
แม้เทวดาทั้งหลายก็นอบน้อมพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ทรงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงได้
ทรงบรรลุนิพพานซึ่งเป็นทางออกจากป่าคือกิเลส
ผู้ทรงยินดีในเนกขัมมะ3
ผู้หลุดพ้นแล้ว เหมือนทองคำที่พ้นจากหิน
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค รุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์
เหมือนภูเขาหิมพานต์ที่สูงกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาคอันเป็นพระนามจริง
ที่ยอดเยี่ยมกว่าเทวดาผู้มีนามว่านาคทุกจำพวก
ข้าพระองค์จักประกาศพระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
เพราะพระองค์ไม่ทรงทำความชั่ว
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
ทรงมีโสรัจจะและอวิหิงสาเป็นเท้าหน้าทั้งสอง
ทรงมีตบะและพรหมจรรย์ เป็นเท้าหลังทั้งสอง
ทรงเป็นดุจช้างตัวประเสริฐ
ทรงมีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาขาว
มีสติเป็นคอ มีปัญญาเป็นเศียร
มีการสอดส่องธรรมเป็นปลายงวง
มีธรรมเครื่องเผากิเลสเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง

เชิงอรรถ :
1 ยินดีในความสงบแห่งจิต หมายถึงยินดีในความสงบแห่งจิตที่ระงับนิวรณ์ 5 ได้ด้วยปฐมฌาน ระงับ
วิตกวิจารได้ด้วยทุติยฌาน ระงับปีติได้ด้วยตติยฌาน ระงับสุขและทุกข์ได้ด้วยจตุตถฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ.
3/43/122)
2 ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง หมายถึงรู้ยิ่ง กำหนดรู้ ละ เจริญ ทำให้แจ้ง และเข้าถึงธรรมทั้งปวง คือ ขันธ์ 5
อายตนะ 12 ธาตุ 18 (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/122)
3 เนกขัมมะ หมายถึงบรรพชา สมาบัติ และอริยมรรค เพราะเป็นเครื่องออกจากกาม 2 ประเภท คือกิเลสกาม
และวัตถุกาม (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/122)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :500 }