เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 1. นาคสูตร
5. ธัมมิกวรรค
หมวดว่าด้วยพระธัมมิกะ
1. นาคสูตร
ว่าด้วยนาค1
[43] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจาก
บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์
มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจักเข้าไปยังปราสาทมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร
เพื่อพักกลางวัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้เสด็จเข้าไปยังปราสาท
ของมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร ต่อมาในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจัก
เข้าไปยังท่าน้ำปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำ
ปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ ครั้นแล้ว เสด็จขึ้นมามีจีวรผืนเดียวผึ่งพระวรกายอยู่
สมัยนั้น พระเศวตกุญชร2ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นจากท่าน้ำปุพพโกฏฐกะ
เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม เหล่าชนเห็นช้างนั้นแล้วจึงกล่าวชมอย่างนี้ว่า
“นาคของพระราชาช่างงามยิ่งนัก นาคของพระราชาช่างน่าดู นาคของพระราชา
ช่างน่าเลื่อมใส นาคของพระราชามีอวัยวะสมบูรณ์”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ‘นาค’ มีความหมาย 3 นัย คือ (1) หมายถึงผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา และใจที่เป็นเหตุแห่ง
ความเศร้าหมองมีทุกข์เป็นวิบาก (2) หมายถึงผู้ไม่ถึงอคติ 4 ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจ วิจิกิจฉา และอนุสัย (3) หมายถึงไม่หวนกลับมาหากิเลสที่ละได้แล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/
121) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/80/238, ขุ.จู. (แปล) 30/27/145-146,102/348,139/448
2 หมายถึงช้างเผือก แปลจากคำว่า “นาโค” ในจำนวนศัพท์ที่เป็นชื่อของช้าง 10 ศัพท์ คือ กุญฺชโร วารโณ
หตฺถี มาตงฺโค ทฺวิรโท คโช นาโค ทฺวิโป อิโภ ทนฺตี (อภิธา.คาถาที่ 360)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :498 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 1. นาคสูตร
เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี1ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนทั้งหลายเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์เท่านั้น
หรือ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’
หรือว่าเห็นสัตว์ชนิดอื่นที่ใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค
น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุทายี คนทั้งหลายเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง
มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค
น่าอัศจรรย์จริง’ บ้าง เห็นม้าตัวใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นโคตัวใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นงูตัวใหญ่
ยาว ฯลฯ เห็นต้นไม้ใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นมนุษย์ผู้มีร่างกายใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์
จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’ บ้าง
อุทายี แต่เราเรียกบุคคลผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในโลกนี้
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา
และมนุษย์นั้นว่า ‘นาค”
ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘อุทายี เราเรียกบุคคลผู้ไม่ทำความชั่ว
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ว่า ‘นาค”
ท่านพระอุทายีได้กราบทูลต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ขออนุโมทนาภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนี้ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
ข้าพระองค์ได้สดับมาจากพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ว่า
มนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นมนุษย์
ทรงฝึกพระองค์แล้ว2 มีพระทัยตั้งมั่นแล้ว
ผู้ทรงดำเนินไปในทางประเสริฐ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงพระกาฬุทายีเถระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/121)
2 ทรงฝึกพระองค์แล้ว หมายถึงทรงฝึกฝนพระองค์ในฐานะ 6 ประการ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย ทางใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :499 }