เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 1. นาคสูตร
5. ธัมมิกวรรค
หมวดว่าด้วยพระธัมมิกะ
1. นาคสูตร
ว่าด้วยนาค1
[43] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจาก
บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์
มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจักเข้าไปยังปราสาทมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร
เพื่อพักกลางวัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้เสด็จเข้าไปยังปราสาท
ของมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร ต่อมาในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจัก
เข้าไปยังท่าน้ำปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำ
ปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ ครั้นแล้ว เสด็จขึ้นมามีจีวรผืนเดียวผึ่งพระวรกายอยู่
สมัยนั้น พระเศวตกุญชร2ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นจากท่าน้ำปุพพโกฏฐกะ
เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม เหล่าชนเห็นช้างนั้นแล้วจึงกล่าวชมอย่างนี้ว่า
“นาคของพระราชาช่างงามยิ่งนัก นาคของพระราชาช่างน่าดู นาคของพระราชา
ช่างน่าเลื่อมใส นาคของพระราชามีอวัยวะสมบูรณ์”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ‘นาค’ มีความหมาย 3 นัย คือ (1) หมายถึงผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา และใจที่เป็นเหตุแห่ง
ความเศร้าหมองมีทุกข์เป็นวิบาก (2) หมายถึงผู้ไม่ถึงอคติ 4 ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจ วิจิกิจฉา และอนุสัย (3) หมายถึงไม่หวนกลับมาหากิเลสที่ละได้แล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/
121) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/80/238, ขุ.จู. (แปล) 30/27/145-146,102/348,139/448
2 หมายถึงช้างเผือก แปลจากคำว่า “นาโค” ในจำนวนศัพท์ที่เป็นชื่อของช้าง 10 ศัพท์ คือ กุญฺชโร วารโณ
หตฺถี มาตงฺโค ทฺวิรโท คโช นาโค ทฺวิโป อิโภ ทนฺตี (อภิธา.คาถาที่ 360)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :498 }