เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เมืองหลวง’ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ยินดีการอยู่ในเสนาสนะใกล้หมู่
บ้านของภิกษุนั้น
6. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เธอสลัดลาภสักการะ
และการสรรเสริญนั้น ไม่ละทิ้งการหลีกเร้น ไม่ละทิ้งเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ เพราะเหตุนั้น เราจึงยินดีการ
อยู่ในป่าของภิกษุนั้น
อนึ่ง สมัยใด เราเดินทางไกล ไม่เห็นใครข้างหน้าหรือข้างหลัง สมัยนั้น เราย่อม
มีความผาสุก โดยที่สุด แม้ด้วยการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ”
นาคิตสูตรที่ 12 จบ
เทวตาวรรคที่ 4 จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. เสขสูตร 2. ปฐมอปริหานสูตร
3. ทุติยอปริหานสูตร 4. มหาโมคคัลลานสูตร
5. วิชชาภาคิยสูตร 6. วิวาทมูลสูตร
7. ทานสูตร 8. อัตตการีสูตร
9. นิทานสูตร 10. กิมมิลสูตร
11. ทารุกขันธสูตร 12. นาคิตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :497 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. ธัมมิกวรรค 1. นาคสูตร
5. ธัมมิกวรรค
หมวดว่าด้วยพระธัมมิกะ
1. นาคสูตร
ว่าด้วยนาค1
[43] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจาก
บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์
มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจักเข้าไปยังปราสาทมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร
เพื่อพักกลางวัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้เสด็จเข้าไปยังปราสาท
ของมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร ต่อมาในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจัก
เข้าไปยังท่าน้ำปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำ
ปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ ครั้นแล้ว เสด็จขึ้นมามีจีวรผืนเดียวผึ่งพระวรกายอยู่
สมัยนั้น พระเศวตกุญชร2ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นจากท่าน้ำปุพพโกฏฐกะ
เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม เหล่าชนเห็นช้างนั้นแล้วจึงกล่าวชมอย่างนี้ว่า
“นาคของพระราชาช่างงามยิ่งนัก นาคของพระราชาช่างน่าดู นาคของพระราชา
ช่างน่าเลื่อมใส นาคของพระราชามีอวัยวะสมบูรณ์”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ‘นาค’ มีความหมาย 3 นัย คือ (1) หมายถึงผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา และใจที่เป็นเหตุแห่ง
ความเศร้าหมองมีทุกข์เป็นวิบาก (2) หมายถึงผู้ไม่ถึงอคติ 4 ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจ วิจิกิจฉา และอนุสัย (3) หมายถึงไม่หวนกลับมาหากิเลสที่ละได้แล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/43/
121) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/80/238, ขุ.จู. (แปล) 30/27/145-146,102/348,139/448
2 หมายถึงช้างเผือก แปลจากคำว่า “นาโค” ในจำนวนศัพท์ที่เป็นชื่อของช้าง 10 ศัพท์ คือ กุญฺชโร วารโณ
หตฺถี มาตงฺโค ทฺวิรโท คโช นาโค ทฺวิโป อิโภ ทนฺตี (อภิธา.คาถาที่ 360)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :498 }