เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. เทวตาวรรค 8. อัตตการีสูตร
ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง
ถวายทานด้วยมือตนเอง
ยัญนั้นย่อมมีผลมาก
เพราะตน (ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก)
เป็นบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ มีศรัทธา
มีใจพ้นแล้ว1บูชายัญอย่างนี้
ย่อมเข้าถึงโลกที่ปราศจากความเบียดเบียนเป็นสุข
ทานสูตรที่ 7 จบ
8. อัตตการีสูตร
ว่าด้วยอัตตการ
[38] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
‘ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ
(มีตนเป็นตัวการ) ไม่มีปรการ2(มีสิ่งอื่นเป็นตัวการ)’
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่เคยได้เห็นไม่เคยได้ฟังคำของบุคคล
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้เลย ก็บุคคลเมื่อก้าวไปข้างหน้าเองได้ ถอยกลับ
เองได้ ไฉนจึงจักกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ ไม่มีปรการ’ พราหมณ์
ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร อารัพภธาตุ3มีอยู่หรือไม่”

เชิงอรรถ :
1 มีใจพ้นแล้ว หมายถึงมีใจพ้นจากความตระหนี่ลาภเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/37/118)
2 พราหมณ์พูดตามลัทธิมักขลิโคศาลที่ถือว่าสัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์ หรือเศร้าหมองเอง ไม่ใช่ตัวเองเป็นตัวการ
และไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นเป็นตัวการ ดู ที.สี. (แปล) 9/168/54-56, ที.สี.อ. 168/146 คำว่า อัตตการ
และปรการนี้ บางทีใช้ในความหมายเดียวกับสยังกตา ปรังกตา ดู สํ.นิ. 16/17/19, สํ.นิ.อ. 2/17/40
3 อารัพภธาตุ หมายถึงความเพียรริเริ่มในการทำความดี เป็นธรรมเครื่องป้องกันถีนมิทธะ(ความหดหู่และ
เซื่องซึม)มิให้เกิดขึ้นและกำจัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/38/118, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/38-41/
133) และดู ที.ปา. 11/335/225, องฺ.เอกก. (แปล) 20/18/4 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :488 }