เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. เทวตาวรรค 7. ทานสูตร
7. ทานสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน
[37] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสิกาชื่อนันทมาตา ชาวเมือง
เวฬุกัณฑกะ ถวายทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6 ในหมู่ภิกษุมีพระสารีบุตรและ
พระโมคคัลลานะเป็นประธาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นอุบาสิกาชื่อนันทมาตา
ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้นแล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
อุบาสิกาชื่อนันทมาตาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้น ถวายทานอันประกอบด้วยองค์ 6
ในหมู่ภิกษุมีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประธาน
ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างไร
คือ ฝ่ายทายก(ผู้ให้)มีองค์ 3 ประการ ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) มีองค์ 3 ประการ
องค์ 3 ประการ ของทายก อะไรบ้าง คือ
ทายกในธรรมวินัยนี้
1. ก่อนให้ก็มีใจดี
2. กำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
3. ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้คือองค์ 3 ประการ ของทายก
องค์ 3 ประการ ของปฏิคาหก อะไรบ้าง คือ
ปฏิคาหกในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
2. เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
3. เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
นี้คือองค์ 3 ประการ ของปฏิคาหก
องค์ 3 ประการ ของทายก องค์ 3 ประการ ของปฏิคาหก มีด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :486 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. เทวตาวรรค 7. ทานสูตร
ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6
อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ1
มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลแห่งทักษิณานั้นถึงการนับว่า
‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’
เปรียบเหมือนการกำหนดปริมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้
อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ 100 อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ 1,000 อาฬหกะ
หรือน้ำมีปริมาณเท่านี้ 100,000 อาฬหกะ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง น้ำในมหาสมุทร
นั้นถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6
อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ
มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลของทักษิณานั้น ถึงการนับว่า
‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันนั้น
ทายก ก่อนให้ก็มีใจดี
เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ2
ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย
คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ
ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ
ย่อมเป็นเขตที่สมบูรณ์แห่งการให้

เชิงอรรถ :
1 มีอารมณ์ดีเลิศ ในที่นี้หมายถึงให้กามคุณ 5 ประการ มีรูปเป็นต้นที่เลิศ (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/51/348)
2 ยัญ ในที่นี้หมายถึงทาน หรือเครื่องไทยธรรม (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/40/341, องฺ.ฉกฺก.อ. 3/37/118) และดู
ขุ.เปต. (แปล) 26/305/216

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :487 }