เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. เทวตาวรรค 1. เสขสูตร
4. เทวตาวรรค
หมวดว่าด้วยเทวดา
1. เสขสูตร
ว่าด้วยธรรมของพระเสขะ1
[31] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 6 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่
ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นผู้ชอบการงาน
2. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
3. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
4. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
5. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย2
6. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 6 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 6 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
2. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย
3. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
4. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
5. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
6. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 6 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
เสขสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 1 หน้า 1 ในเล่มนี้
2 คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึง สำรวมระวังอายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
และใจ (ที.ปา. 11/323/215, ม.อุ. 14/305/279, อภิ.วิ. (แปล) 35/229/220)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :477 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. เทวตาวรรค 2. ปฐมอปริหานสูตร
2. ปฐมอปริหานสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม สูตรที่ 1
[32] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป1 เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม 6 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
2. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
3. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
4. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
5. ความเป็นผู้มีความเคารพในความไม่ประมาท
6. ความเป็นผู้มีความเคารพในปฏิสันถาร2
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม 6 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
เมื่อเทวดานั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดานั้น
รู้ว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงถวายอภิวาท ทำประทักษิณ3แล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 21 ฉักกนิบาต (สามกสูตร) หน้า 450 ในเล่มนี้
2 ปฏิสันถาร ในทีนี้หมายถึงการต้อนรับมี 2 อย่าง คือ (1) อามิสปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยอามิส)
(2) ธัมมปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยธรรม) ดู องฺ.ทุก. (แปล) 20/153/123
3 ทำประทักษิณ หมายถึงเดินเวียนขวาโดยการประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ มีผู้ที่ตน
เคารพอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางผู้ที่ตนเคารพ เดินถอยหลังจนสุดสายตา จนมองไม่เห็นผู้ที่
ตนเคารพแล้วคุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ (การกราบด้วยตั้งอวัยวะทั้ง 5 อย่างลงกับพื้นคือ
กราบเอาเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง และศรีษะ (หน้าผาก) จรดลงกับพื้น)แล้วลุกขึ้นเดินจากไป (วิ.อ. 1/15/
176-177)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :478 }